ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส เดินหน้าสู่ IPD Paperless เต็มตัว ไร้กระดาษ 100% ภายในสัปดาห์นี้ ชี้บุคลากรเห็นประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน แถมแพทย์ยังเป็นทีมนำการเปลี่ยนแปลงทำให้เดินหน้าสู่ Smart Hospital ได้เร็ว

นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้นำระบบ Smart back office และ OPD Paperless มาใช้ในโรงพยาบาลจนประสบความสำเร็จอย่างดีแล้ว ล่าสุดโรงพยาบาลจะเดินหน้าสู่การเป็น IPD Paperless อย่างเต็มรูปแบบ 100% ภายในสัปดาห์นี้ โดยระบบที่นำมาใช้นั้นยกรูปแบบมาจากโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ใช้เวลาเตรียมการประมาณ 3 สัปดาห์ก็พร้อมใช้งานได้แล้ว

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า รูปแบบการทำงานของ IPD Paperless จะเป็นดิจิทัลทั้งหมด Chart ก็เป็นดิจิทัล เวลาแพทย์ราวด์วอร์ดจะมีรถเข็นเคลื่อนที่ที่มีคอมพิวเตอร์ไปด้วย เมื่อตรวจผู้ป่วยเสร็จก็จะพิมพ์เข้าไปในคอมพิวเตอร์แทนการใช้กระดาษ รูปแบบ Chart ก็เหมือนกระดาษทุกอย่าง Progression, One Day, Continue เคยเขียนอย่างไรก็พิมพ์เข้าไปในคอมพิวเตอร์แทน พยาบาลไม่ต้องเดินตาม ไม่ต้องมานั่งแกะลายมือหมอ นั่งอยู่ที่ห้องแล้วดูในระบบได้เลย แพทย์ตรวจแต่ละเตียงเสร็จพยาบาลเอาไปวิเคราะห์ได้เลย ไม่ต้องรอให้หมอราวน์เสร็จหมดก่อนแล้วค่อยมารับออเดอร์

นอกจากนี้ ระบบยังจะเชื่อมโยงข้อมูลของ IPD ขึ้นไว้ในแท็บเล็ต ทำให้แพทย์เรียกดูข้อมูลที่ไหนก็ได้ เช่น ตรวจคนไข้เช้าแล้วสั่งตรวจแล็บ พอกลับถึงบ้านก็เปิดดูที่้บ้านแล้วสั่งออเดอร์ได้เลย หรือเรื่องยาก็จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลบัญชียาของโรงพยาบาล ปกติห้องยาจะมีโดสของยาแต่ละตัวว่าให้เท่าใด แพทย์ก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ตามมาตรฐานหรือจะแก้โดส เป็นต้น

"ตอนนี้ในส่วนของแพทย์เป็น Paperless หมดแล้ว แต่ในส่วนของพยาบาลยังใช้กระดาษบ้าง เรายังให้เวลาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าระบบใช้ได้ไม่มีปัญหา แต่ภายในสัปดาห์นี้น่าจะไม่มีกระดาษ 100% แล้ว" นพ.อดุลย์ กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กล่าวอีกว่า การเป็น Smart Hospital ของโรงพยาบาลยี่งอได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงแรกๆที่มีนโยบายแล้ว โดยวางแผนว่าถ้าจะเป็น Smart Hospital ก็น่าจะเจอเรื่อง AI ที่มาทำงานแทนคน ดังนั้นเรื่องแรกที่ทำคือการใช้ระบบ Smart back office โดยงานที่เป็นงานเอกสารเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใบลา ขอไปราชการ ขอไปประชุม ฯลฯ ให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด จะทำเวลาไหนก็ได้ รวมทั้งได้พัฒนาแอปพลิเคชันลงชื่อเข้าทำงานด้วยการสแกนผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งหมดนี้เป็นระบบที่ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกว่าช่วยให้ทำงานดีขึ้น ง่ายและสะดวกสำหรับผู้ปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจ มีกระแสตอบรับที่ดีมาก ที่สำคัญคือทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

"พอทำ Back Office ให้เป็น Digital Workplace ได้ ทุกคนมีความสุข พอมาทำเรื่อง OPD Paperless คือไม่มีกระดาษใน OPD ไม่มีห้องบัตร มันก็สำเร็จ ทุกคนรู้สึกว่าทำงานดีขึ้น อะไรๆ ก็ดีขึ้น จากนั้นเราก็ขยายมาเป็น IPD Paperless เหมือนโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย แต่เราใช้เวลาสั้นกว่าเพราะเจ้าหน้าที่เอาด้วย เขารู้สึกว่ามันไม่ได้มา Disrupt แต่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น" นพ.อดุลย์ กล่าว

นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า Key success ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในโรงพยาบาลนั้น ตนมองว่าเกิดจากการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก เพราะแม้จะเดินหน้าสู่ยุค 4.0 แต่โรงพยาบาลยังมองว่าทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เมื่อองค์กรให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือค่อนข้างดี ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกว่าเกิดประโยชน์มากกว่า พอจะทำเรื่องใหม่ๆ เช่น IPD Paperless บุคลากรของโรงพยาบาลจึงมั่นใจว่าสิ่งที่องค์กรกำลังจะทำน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

"อีกส่วนที่น่ายกย่องและเป็นแกนหลักในการเปลี่ยนแปลงคือแพทย์ ผมโชคดีที่แพทย์โรงพยาบาลยี่งอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและยังเป็นทีมนำในการเปลี่ยนแปลง เพราะการนำระบบต่างๆเข้ามาใช้นี้ คนที่น่าจะยุ่งยากที่สุดก็คือแพทย์ แต่ที่นี่แพทย์เล่นด้วย เป็นต้นแบบของการเปลี่ยน มีการแชร์ความรู้หรือทริกใหม่ๆในการใช้งาน มีการคุยกันตลอดเวลา พอแพทย์เล่นด้วยก็กระตุ้นทีมงานตามไปด้วย และปัจจัยสำคัญอีกประการคือโรงพยาบาลเราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้มาตั้งแต่แรก เจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมเรียนรู้ ทำให้ผมกล้าที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้งาน" นพ.อดุลย์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ยี่งอ นราธิวาส เปิดร้านกาแฟรองรับ จนท.ห้องบัตร หลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยี paperless