ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) วันที่ 31 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ "เส้นทางชีวิตและสุขภาพ (Life Course Approach) เชื่อมงาน ประสานใจ ก้าวไกล และยั่งยืน" โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เป็นพันธมิตรกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาร่วมอภิปรายว่าจะสร้างการทำงานร่วมกันได้อย่างไร

นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ.และ สธ.มีความเหมือนกันประการหนึ่งคือใช้กระบวนการในการสื่อสาร การจัดการศึกษา และการส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชีวิตผู้คนครอบคลุมทั้งประเทศ และทั้ง 2 กระทรวงไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องทำร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์กับกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับ สธ.มา โดยส่วนตัวพบว่าจุดสำเร็จที่สุดในการทำงานส่งเสริมสุขภาพคือที่โรงเรียน ซึ่ง สธ.วางรากฐานได้ดีมากจากโครงการส่งเสริมสุขภาพซึ่งดำเนินการมานับ 10 ปี ถือเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในโรงเรียน

นายวีระกุล กล่าวอีกว่า ประเด็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่คิดว่าควรต้องทำในทุกโรงเรียนคือ เรื่องยาเสพติด การจัดการแก้ไขปัญหาขยะ และอาหารปลอดภัย ส่วนจะเน้นสาระความรู้อย่างไรในแต่ละระดับการศึกษานั้น ทางสธ.น่าจะเชี่ยวชาญในจุดนี้ นอกจากนี้แล้ว ยังมีประเด็นที่ควรขับเคลื่อนให้เหมาะสมกับเฉพาะโรงเรียนและสภาพพื้นที่ ซึ่งจะทราบได้จากตัวผู้ปฏิบัติงานเองที่จะต้องคิดสร้างสรรค์ออกมาให้ตรงกับประเด็นปัญหาในพื้นที่นั้นๆ

สำหรับกลไกการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานนั้น ศธ. ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันมีผู้ในอยู่ในการดูแลของ ศธ. ประมาณ 13 ล้านคน แบ่งเป็นในระบบ 12 ล้านคน และนอกระบบ 1 ล้านคน มีสถานศึกษาประมาณ 50,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนอาชีวะอีก 800 กว่าแห่ง ของ กศน. 1,000 แห่ง และโรงเรียนเอกชน 3,800 แห่ง

นอกจากนี้ เหนือโรงเรียนขึ้นไป ยังมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา มีผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัด ที่สามารถช่วยส่งเสริมและกำกับการทำงานของโรงเรียนให้มีความเข้าใจในการทำงานที่ตรงกัน

“สูงขึ้นไปอีกยังมีศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค รวมทั้งหมด 18 ภาค ดังนั้นท่านสามารถประสานกับศึกษาธิการจังหวัดได้ เช่น สาธารณสุขจังหวัดประสานกับศึกษาธิการจังหวัด แล้วจะได้ความร่วมมือจากทุกหน่วยในพื้นที่ หรือกรณีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ก็สามารถประสานกับศึกษาธิการภาค ดังนั้น เรามีกลไกการเชื่อมต่อระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับโรงเรียน” นายวีระกุล กล่าว

นายวีระกุล ยังเสนอด้วยว่านอกจากความร่วมมือในระดับกระทรวงแล้ว ยังมีกลไกการตรวจราชการแบบบูรณาการ กล่าวคือผู้ตรวจราชการทุกกระทรวงจะต้องตรวจตามประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญ ซึ่งตนเสนอว่าอยากให้ สธ.เสนอเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นประเด็นการตรวจราชการ เพราะเมื่อเป็นประเด็นการตรวจราชการ ก็จะได้รับการดูแลว่าทุกกระทรวงต้องช่วยกัน และจะช่วยให้การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขก้าวไปได้เร็วมากขึ้น

ด้าน นายสมคิด จันทมฤก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า การทำงานของ มท. ก็เกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่เกิดจนตายเช่นเดียวกับ สธ. เช่น งานทะเบียนต่างๆ การจัดระเบียบสังคม การดูแลความเรียบร้อยต่างๆ และการทำงานก็จะทำงานร่วมกับทุกกระทรวง รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตโดยตรง ก็มีหลายๆ เรื่องที่เป็นงานระดับชาติและเมื่อลงไปถึงระดับพื้นที่ก็จะบูรณาการกันหมด เช่น เรื่องไข้เลือดออก เป็นปัญหาระดับชาติ แต่พอลงไปถึงระดับพื้นที่ก็ต้องบูรณาการกัน นายอำเภอไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ แต่สามารถบูรณาการกับฝ่ายการแพทย์เพื่อแก้ปัญหาไข้เลือดออกได้

“ผมกำลังชี้ว่าการทำงานในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้เป็นของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องจับมือร่วมกัน มท.มีกลไกสำคัญคือ มีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด มีนายอำเภอ 878 อำเภอ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อีกกว่า 200,000 คน นอกจากนี้ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล รวมแล้วอีก7,000 กว่าแห่ง นี่คือกลไกที่ทำงานในพื้นที่ในการบูรณาการกับทุกภาคส่วน” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด ยกตัวอย่าง ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในเรื่องสุขภาพ เช่น การจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (District Health Board) เป็นความร่วมมือระหว่าง มท. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)โดยมีหลักคิดคือจุดที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตคือที่อำเภอ จึงจัดโครงสร้างให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการสุขภาพอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่เป็นรองประธาน และสาธารณสุขอำเภอเป็นฝ่ายเลขานุการ ถือเป็นการบูรณาการที่แท้จริงเพื่อดูแลการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพ ขณะนี้ดำเนินการมา 1 ปี ใน 73 อำเภอและอยู่ระหว่างการประเมินผล

หรือตัวอย่างอีกโครงการหนึ่งก็คือโครงการมหาดไทยห่วงใยผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ต่างๆ แต่โครงการนี้จะทำเสริมขึ้นมา โดยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศพัฒนาระบบการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

“ทั้งหมดนี้สรุปออกมาเป็นคำสำคัญ 2 คำ คือ 1.บูรณาการการทำงาน โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง คนมีปัญหาอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร และ 2.การมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่มีส่วนร่วม” นายสมคิด กล่าว

ขณะที่ น.ส.ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.ทำงานร่วมกับ สธ.มาตั้งแต่สมัยเป็นกรมประชาสงเคราะห์ และเมื่อยกระดับเป็นกระทรวงก็มีการปรับโครงสร้างให้มีกรมที่ดูแลคนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงสูงอายุ โดยมีเป้าหมายการทำงานคือการส่งเสริมให้คนทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายนี้ได้ จะต้องดำเนินการบนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ

น.ส.ศิริวรรณ กล่าวอีกว่า พม.มีภาคีมากมายที่ทำงานร่วมกัน ทั้งในระดับหน่วยงานรัฐ มีคณะกรรมการระดับชาติซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของหลายกระทรวงเป็นองค์ประกอบ ร่วมกันทำงานขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ร่วม นอกจากนี้ ยังมีภาคีภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา รวมถึงกลไกในระดับสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งกำลังขับเคลื่อนประเด็นสำคัญๆให้ประเทศไทยมีสุขภาวะที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานแบบสานพลังประชารัฐ สร้างความร่วมมือทั้งภาคนโยบาย ภาควิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน

สำหรับประเด็นการทำงานของ พม. ที่สอดคล้องกับเรื่อง Life Course Approach นั้น ก็คือการขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ พม.ต้องการขับเคลื่อนเรื่องการดูแลระยะยาวเพื่อ empower ผู้สูงอายุให้เป็นกำลังของประเทศได้ยาวนานที่สุด ซึ่งกลไกสำคัญคือการทำงานแบบสานพลังประชารัฐ โดยต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงาน เพราะการทำงานเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้สูงอายุยังมีตัวตนอยู่ในสังคม เป็นการให้โอกาสให้ร่วมเป็นกำลังผลิตของประเทศนั่นเอง

ด้าน พล.ต.ต่างแดน พิศาลพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทย์ สำนักงานสนับสนุน กระทรวงกลาโหม (กห.) กล่าวว่า ในภาพรวมการส่งเสริมสุขภาพของกองทัพจะทำตั้งแต่เป็นนักเรียนทหาร และเมื่อเรียนจบเข้ามาทำงานก็ยังมีนโยบายการทดสอบสมรรถภาพร่างกายทุกๆ 6 เดือน ยกเว้นกองบัญชาการทองทัพไทยที่ทดสอบร่างกายทุกๆ 3 เดือน

ทั้งนี้ หากพิจารณานโยบายด้านสุขภาพของผู้บังคับบัญชาแล้ว ในส่วนของรัฐมนตรีว่าการประทรวงกลาโหม มีนโยบายให้กำลังพลมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจากนโยบายนี้ แต่ละเหล่าทัพก็จะนำไปปฏิบัติ โดยในส่วนของปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เน้นว่า ต้องดูแลสุขอนามัย การให้บริการทางการแพทย์แก่กำลังคนในครอบครัว ปรับปรุงสถานที่ทำงาน บ้านพักอาศัย สถานที่พักผ่อนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี

ขณะที่ในส่วนของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็มีนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี ส่งเสริมการออกกำลังกายและการกีฬา โดยทดสอบสมรรถภาพร่างกายอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง ส่วนผู้บัญชาการทหารบกมีนโยบายว่ากำลังพลต้องเป็น Smart Man สุขภาพร่างกายต้องดี เน้นการออกกำลังกาย รวมถึงการดูแลโภชนาการ ทุกหน่วยต้องมีฟิตเนส ส่งเสริมการเพาะกายให้มีหุ่นดี มีกล้าม ดูสมาร์ท รวมทั้งต้องมีการทดสอบร่างกายอย่างเข้มงวดจริงจัง

เช่นเดียวกับ ผู้บัญชาการทหารเรือ มีนโยบายเน้นการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี และควบคุมค่าดัชนีมวลกายให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนผู้บัญชาการทหารอากาศ โดยกรมแพทย์ทหารอากาศจะเน้นเรื่องโรค NDCs และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง