ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ชูคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ วินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงานและโรคจากสิ่งแวดล้อม ในระดับประเทศและอาเซียน พร้อมเผยแผนเปิดศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ ตรวจสารเคมีให้แก่ประชาชน ภายในปี 2561

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า งานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นงานที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์รับผิดชอบ และเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศ 15 ศูนย์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการกลุ่มคนวัยทำงานและประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากการทำงาน และโรคจากสิ่งแวดล้อม

ซึ่งโรคจากการทำงานหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานนั้นเกิดจากสิ่งคุกคามหรืออันตรายในที่ทำงาน ทำให้เกิดโรคโดยตรงหรือเป็นสิ่งที่เสริมทำให้โรคที่เป็นอยู่แล้วแสดงอาการหรือเป็นมากขึ้น เช่น โรคพิษตะกั่ว โรคปอดฝุ่นทราย โรคหอบหืดจากการทำงาน เป็นต้น สำหรับโรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคที่เกิดจากหมอกควันในภาคเหนือทำให้อัตราการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น หรือโรคพิษอาร์เซนิกที่เกิดในพื้นที่บางแห่งในประเทศ ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น

โรคจากการทำงานที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ โรคที่เกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ เนื่องจากการทำงานจะต้องมีการเคลื่อนไหวตลอด ต้องมีการยก เคลื่อนย้ายสิ่งของ บางครั้งมีการเคลื่อนไหวที่ผิดท่าทาง ทำให้มีอาการปวด หรืออักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นเอ็นมีอาการบวม มีเส้นประสาทถูกกดทับ โรคที่เป็นมาก คือ โรคปวดหลัง ซึ่งบางคนเป็นมากจนต้องนอนโรงพยาบาล โรคที่พบรองลงมาคือโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารเคมี ทำให้มีการอักเสบของผิวหนัง มีอาการแสบร้อน หรืออาจทำให้ผิวหนังแลดูไม่สวย

นอกจากนี้ยังมีโรคจากการทำงานอีกหลายโรคที่คนทำงานไม่ได้มาพบแพทย์เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นโรคจากการทำงาน เช่น การเป็นหอบหืดจากการสัมผัสฝุ่นฝ้าย หรือเชื้อราที่ใช้ในการทำอาหาร อาการชามือหรืออ่อนแรงจากสารเคมีบางชนิด ซึ่งเมื่อยังเป็นไม่มาก เมื่อหยุดงาน ไม่มีการสัมผัสอาการจะดีขึ้นได้เอง

โรคจากการทำงานที่เกิดบางโรคใช้เวลานาน เช่น โรคหูตึง ต้องใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะเริ่มมีอาการ หรือโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เกิดจากแอสเบสตอส ต้องใช้เวลาถึง 30 ปี เมื่อมีการเปลี่ยนงานบ่อยๆ จะจำประวัติการสัมผัสไม่ได้ จึงยากต่อการวินิจฉัยโรคดังนั้น การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ยิ่งเร็ว ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้คนทำงานมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคที่อันตรายได้ เช่น หากมีคนทำงานแพ้สารเคมีไตรคลอโรเอธิลีน แบบรุนแรงจะถึงแก่กรรมได้ ถ้าสามารถวินิจฉัยได้เร็ว จะสามารถรักษาได้ถูกต้อง ดังนั้น จะเห็นว่าการวินิจฉัยโรคจากการทำงานจะมีประโยชน์ ทั้งในการป้องกันและการรักษา ที่สำคัญ คนงาน จะได้รับเงินชดเชยจากกองทุนเงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานด้วย

คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ มีบทบาทในการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ผลงานที่ผ่านมาที่เป็นที่รู้จักของสาธารณชน อาทิ เหตุการณ์แร่ตะกั่วที่ห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง, ไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีที่ท่าเรือคลองเตย, เหตุรำคาญจากโรงงานกำจัดขยะแถบสระบุรี, ไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา สมุทรปราการ, การลักลอบทิ้งสารเคมีที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ล่าสุดคือกรณีเหมืองทองในรอยต่อสามจังหวัด พิจิตร พิษณุโลก และ เพชรบูรณ์

นอกจากนี้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ยังเป็นตัวแทนของกรมการแพทย์เรื่องการบูรณาการด้านสุขภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องสุขภาพประชาชนแถบบ่อขยะ เรื่องสุขภาพในวัยทำงาน และเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสุขภาพประชาชน รวมทั้งการนำความรู้และวิชาการด้านการแพทย์ ไปเผยแพร่ยังเขตสุขภาพต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 13 เขต อีกด้วย

แผนการดำเนินงานที่สำคัญของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คือ การเตรียมตัวเป็นศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการแพทย์ และแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งระบุให้กรมการแพทย์รับผิดชอบเรื่องศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ โดยได้กำหนดระดับของศักยภาพในการเป็นศูนย์พิษให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 13 เขต และได้สร้างศักยภาพของโรงพยาบาล โดยการจัดซื้อเครื่องตรวจสารเคมี ชนิด GC MS/MS และ LC MS/MS ซึ่งจะครอบคลุมการตรวจหาสารเคมีได้ทุกชนิด นอกเหนือจากเครื่อง AA ที่โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว ซึ่งศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จะเป็นศูนย์ที่รับตรวจสารเคมีในตัวของประชาชนที่มีศักยภาพมากที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข ภายในปี 2561 โดยจะรับตรวจหาสารเคมีทั่วประเทศภายในปี 2561

ทั้งนี้ โรงพยาบาลนพรัตราชธานีจะพัฒนากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้เป็นสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม นพรัตนราชธานี ภายในปีนี้ เพื่อขยายขอบเขตให้ทำงานตอบโจทย์ของประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยจัดทำเกณฑ์วินิจฉัยโรคจากการทำงานในระดับอาเซียนร่วมกัน เพื่อให้มีการวินิจฉัยโรคจากการทำงานโดยเกณฑ์เดียวกันในประเทศกลุ่มอาเซียน และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ การทำวิจัยร่วมกันในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป