ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บางครั้งแค่ความสงสัยเล็กๆ ก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราได้ วันหนึ่งเคยสงสัยว่าคนไข้เก็บยาอินซูลินกันอย่างไร แล้วยาพ่นคนไข้ก็บอกพ่นตามเวลา ทดลองให้ทำ ก็ทำถูกวิธี ทำไมอาการไม่ดีขึ้น สงสัยว่าพระภิกษุจัดการบริหารเวลายาอย่างไร ยาที่ถวายสังฆทานไปไหน ฟังดูอาจเป็นคำถามที่ดูๆ แล้วไม่น่าจะถามได้ แต่คุณเชื่อไหมว่า แค่คำถามนี้ มันเป็นสิ่งผลักดันให้ออกจากกล่องสี่เหลี่ยมไปทำงานเยี่ยมบ้าน

วันที่ตัดสินใจจะทำงานเยี่ยมบ้าน ด้วยความที่เราอ่อนวัยวุฒิที่สุดในบรรดาเภสัชกร จึงต้องปรึกษาทั้งหัวหน้าและเภสัชกรท่านอื่นๆ หัวหน้าเปิดโอกาสให้ทำงานด้านนี้เต็มที่ แต่ท่านอื่นไม่เห็นด้วยก็มี โดยให้เหตุผลว่าทำไมต้องไปเยี่ยมบ้าน จ่ายยาที่หน้าห้องก็ได้คุยกับคนไข้เหมือนกัน ตอนนั้นก็เริ่มคล้อยตาม เพราะด้วยภาระงานที่ทำอยู่ก็ไม่พอกับเวลาอยู่แล้ว ถ้าต้องเยี่ยมบ้านด้วยจะเอาเวลาที่ไหน ใจหนึ่งก็คิดว่าหากอยากก้าวหน้า ก็อย่ารักษาสิ่งแวดล้อมเดิมไว้ ดังนั้นหากอยากทำงานเยี่ยมบ้าน เราต้องออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมรอบตัวเรา จึงได้เข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน จนก่อเกิดเป็นทีมสหวิชาชีพในการออกเยี่ยมบ้าน

ในความคิดเห็นส่วนตัวการไปเยี่ยมบ้านนอกจากเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำแล้ว งานนี้เป็นเหมือนการทำความดีอย่างหนึ่ง ที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือ แม้อาจไม่ได้เป็นการเอาสิ่งใดไปมอบ แต่พวกเราก็ไปให้กำลังใจ ให้การดูแลในสิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องการ แต่ขณะเดียวกันมิอาจปฏิเสธได้ว่าการไปเยี่ยมบ้านในแต่ละครั้ง เราจะค้นหาปัญหาของเขา หรือไปจับผิดพวกเขาก็ว่าได้ แต่การไปค้นหาปัญหานั้น หาใช่เจอข้อผิดพลาดแล้วนำมาต่อว่า แต่กลับกันพวกเราจะได้หาทางช่วยกันแก้ไข หรือป้องกันไม่ให้เกิด โดยใช้พื้นฐานจากความต้องการผู้ป่วยและญาติ ร่วมด้วย

ปัญหาที่เจอบางเรื่องไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้นได้ เช่นเรื่องการเก็บยาในตู้เย็น วันนั้นเราไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ฉีดยาอินซูลิน หลักจากที่พูดคุยกับผู้ป่วยสักพัก ทำความคุ้นเคยกันแล้ว ก็ขอดูยาที่ผู้ป่วยใช้ โดยขออนุญาตตามเข้าไปยังที่เก็บยา ผู้ป่วยพาไปที่ตู้เย็น และหยิบปากกาฉีดอินซูลินให้ดู ก็เลยสอบถามถึงยาตัวอื่นอีก ผู้ป่วยก็ไปหยิบถุงยาที่วางอยู่อีกที่มาให้ เมื่อเปิดถุงดูหัวใจแทบสลาย ยาอินซูลินอยู่ในถุงยานี้ ผู้ป่วยอธิบายว่าจะเก็บในตู้เย็นต่อเมื่อเปิดใช้แล้วเท่านั้น บางคน แพทย์สั่งเปลี่ยนชนิดอินซูลินแล้ว แต่ผู้ป่วยยังคงใช้อินซูลินชนิดเก่า เพราะไม่ทราบว่าชนิดยาเปลี่ยน และคิดว่าเป็นยาตัวเดียวกัน

ปัญหาเกี่ยวกับอินซูลิน ไม่ใช่เพียงแค่ยา แต่ยังเป็นเรื่องวิธีการฉีด ที่ต้องขออนุญาตดูรอยแผลที่ฉีด และรวมถึงหัวเข็มที่ใช้แล้วเอาไปไหน มีบ้านหลังหนึ่ง เราเจอหัวเข็มใช้แล้วตกอยู่บนพื้น แต่โชคดีที่ถูกเห็นโดยพวกเราก่อนที่จะมีใครเหยียบ เมื่อมีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยฉีดอินซูลิน คำถามนี้จึงเป็นคำถามยอดฮิตที่เราจะถามว่าทิ้งหัวเข็มอย่างไร ที่ไหน คำตอบที่ได้ คือในถุงขยะ โดยไม่สวมปลอกกลับ แล้วเอาไปวางรอรถเทศบาลมาเก็บ ที่หนักกว่านั้นคือโยนลงน้ำ เพราะหลังบ้านติดกับน้ำ บางคนเอาเก็บใส่ขวดน้ำที่ไม่ใช้แล้ว บ้างบอกเอาไปฝัง เอาไปเผา รวมกับขยะอื่นๆ

คุณจะเห็นแล้วว่ายาเมื่ออกจากห้องยาไปแล้ว เราไม่รู้เลยว่ามันจะถูกเก็บในสภาพอย่างไร ขนาดอินซูลินที่มีการบอกว่าต้องเก็บในตู้เย็นยังมีความคลาดเคลื่อนได้ แล้วสิ่งที่เราไม่ได้พูดล่ะ วันหมดอายุข้างภาชนะยา หรือความเสื่อมสภาพดูอย่างไร สิ่งที่ทีมเยี่ยมบ้านลงไปเจอ

อีกเรื่องที่เราไม่เคยแนะนำคือวิธีการเปิดซองใส่ยา เคยลองให้ผู้ป่วยเปิดซองยากันบ้างไหม วิธีหนึ่งที่ทำกันคือดึงแยกออกจากกัน และมันก็จะดึงยากในระดับหนึ่ง ไม่เชื่อคุณลองทำดู เมื่อดึงยากเวลาปิดคงไม่มีใครปิดสนิท หรืออยากปิดสนิทก็คงทำไม่ได้เพราะร่องซิปมันเสียแล้ว คราวนี้ล่ะ ยาที่ได้ไปก็ถูกความชื้น ยาก็นิ่ม แต่ผู้ป่วยก็ยังคงทานยานั้นตามปกติ หรือบางคนพบยาที่หมดอายุแล้วก็ยังหยิบมารับประทาน

และอีกปัญหาหนึ่งที่เภสัชกรก็คงเจอกันคือเจอยาเหลือที่บ้านจำนวนมหาศาล เช่น เจอยาพ่นชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เปิดใช้ 4-5 เครื่อง ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ป่วยไปโรงพยาบาลก็ได้มาตลอด แต่ไม่เคยใช้ เพราะผู้ป่วยมีเครื่องพ่นยาที่บ้าน และรู้สึกว่าพ่นกับเครื่องพ่นจะหาย อาการดีขึ้นเร็วกว่า

การไปเยี่ยมผู้ป่วยมีแต่พูดถึงแต่ยาเหมือนไม่ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยเลย คุณอาจพูดว่าไปเยี่ยมยาหรือเปล่า จริงๆ เราไปเยี่ยมผู้ป่วย และญาติในบ้าน รวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย ในการไปทุกครั้งเราจะหาผู้ป่วยแฝงที่อยู่ในบ้านด้วย เมื่ออาทิตย์ก่อนได้เข้าไปในป่ายาง ทางเข้าไปจะเรียกว่าถนนก็ไม่เชิง มันเป็นทางที่รถวิ่งเข้าไปจนเป็นทางสัญจร ทางทั้งลดเลี้ยว ลัดเลาะกันไปจนสุดทาง ก็จะเจอบ้านหลังหนึ่ง

ในบ้านอาศัยกันเพียงสองคนแม่ลูก แม่เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่เรากำลังไปเยี่ยม โดยมีลูกชายเป็นผู้ดูแล สภาพในบ้านรก เต็มไปด้วยฝุ่น ผู้ดูแลเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นลูกคนสุดท้อง และเลิกรากับภรรยาไปแล้ว ไม่มีภาระใดๆ จึงต้องเป็นคนมาดูแลแม่เอง ระหว่างที่พูดคุยสังเกตได้ว่าสายตาเขาดูอิดโรย ผู้ดูแลทำงานสวนยางของเขาเอง ทำงานสักพักก็จะกลับมาดูแม่ มาป้อนอาหารสำเร็จรูป ป้อนยาทางสายยางให้แม่ ระหว่างทำงานก็จะกังวลถึงแม่ตลอด ทำงานเสร็จก็จะมาหุงหาอาหารเอง บางครั้งแกงหม้อหนึ่งกินได้ 3 วัน เพื่อลดเวลาในการทำ ตกเย็นบรรยากาศจะเงียบ เพราะไม่มีเพื่อนบ้าน นอนไม่ค่อยหลับก็จะกินเหล้าช่วยให้หลับ

ในระหว่างพูดคุยได้ขอวัดความดันผู้ดูแล เขาบอกว่าความดันเขาจะสูง เพราะเค้าจะตื่นเต้นเวลามีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้าน แต่เมื่อกลับไป เขาวัดเองความดันจะปกติ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาบอกว่าวันๆ เค้าไม่ได้เจอใคร เขาจะไม่ค่อยไปไหน เว้นแต่ไปเอายาให้แม่ ผู้ดูแลเล่าว่าหากเกิดภาวะฉุกเฉินกับแม่ คงจะอุ้มแม่ไปโรงพยาบาลเอง คงมิอาจรอให้รถมารับ เพราะเขาคิดว่าการที่เค้าพาไปคงจะเร็วกว่าที่รถจะเข้ามาถึงบ้านนี้ได้ แล้วกรณีนี้คุณว่าระหว่างแม่ที่นอนติดเตียงกับลูกชายที่เป็นผู้ดูแลคนนี้ ใครที่ป่วยมากกว่ากัน และสมควรได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน

นอกจากทุกข์ผู้ดูแล ทุกข์ผู้ป่วยก็มิอาจปฏิเสธได้ว่ายากที่จะเข้าถึงเพราะเราไม่ใช่เขา นี่เป็นอีกกรณีที่เรายืนบนภูเขาคนละลูกกับผู้ป่วย มีคุณลุงคนหนึ่งมีประวัติการเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่กว่า ด้วยภาวะหายใจล้มเหลว วันที่เราไปเยี่ยมคุณลุงมีสีหน้าสดชื่น ยิ้มต้อนรับ คุณลุงพ่นยาเองได้ คุณลุงได้ยื่นสมุดบันทึกหน้าหนึ่งให้ดู ในใจความพรรณนาถึงความความทรมานจากการถูกใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยรับรู้ตลอด มีอาการเจ็บทรมาน แสบคอ เมื่อถอดออกอาการแสบ เจ็บคอยังมี การกลืนอาหารก็ลำบาก เจ็บ

ทั้งหมดนี้คุณลุงอยากบอกภรรยา บอกลูก อยากคุย ความรู้สึก แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ ทำได้แค่เขียน ทุกครั้งที่เขียนน้ำตาจะไหลอาบแก้ม ผู้ป่วยได้เขียนสั่งไว้ในบันทึกว่า “ครั้งต่อไปไม่ต้องใส่ท่อแล้ว ไม่อยากใส่ มันทรมาน” ในวันนั้นที่พวกเราไป สิ่งที่ผู้ป่วยและญาติอยากให้ช่วยคือ ขอเครื่องพ่นยา หลังจากที่ผู้ป่วยได้เครื่องพ่นยา ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบอกขอใช้ชีวิตที่บ้าน ไม่ขอโรงพยาบาลอีก

เมื่อย้อนกลับไปนับเป็นความโชคดีที่เรากล้าเดินออกมาจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ แม้การก้าวย่างแต่ละก้าวจะพบเจอปัญหาที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วย แต่นั่นเป็นความสุขใจที่ได้ร่วมกันแก้ปัญหากับผู้ป่วย จากจุดที่ผู้ป่วยยืนอยู่บางคนอาจไม่ได้ต้องการสิ่งของ อาจแค่ให้มาเยี่ยมเยือน เขาก็สุขใจมากแล้ว เพราะยังรู้สึกไม่ถูกทอดทิ้ง แค่ความสงสัย มันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ทำอะไรดีๆ แต่คุณต้องตั้งคำถามดีๆ ก่อนนะคะ

ผู้เขียน : ภญ.เพ็ญนภา ประภาวัต รพ.พุนพิน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี