ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก หลังพบคนไทยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมประมาณ 3 ล้านคน พร้อมตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อดังกล่าวให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2564 และขอเชิญชวนประชาชนรับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคม 2560 ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการทุกแห่ง

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย Dr.Mukta Sharma ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอดส์ วัณโรค และโรคไวรัสตับอักเสบ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย และ รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” (28 กรกฎาคมของทุกปี) โดยมีผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค ร่วมในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับโรคไวรัสตับอักเสบ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคนไทย โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่โรคไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในไทยและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี เห็นได้จากผลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกที่พบว่ามีประชากรกว่า 325 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดังกล่าวถึง 1.34 ล้านรายต่อปี

ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านคน ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 300,000-700,000 ราย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับ ผ่านมาตรการต่างๆอย่างบูรณาการ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2560–2564 เพื่อใช้เป็นกรอบทางยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ โดยมีเป้าหมายลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี และให้ผู้ป่วยโรคนี้ สามารถเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2564

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี จะคล้ายกับไวรัส HIV คือ สามารถติดต่อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย และติดต่อจากแม่สู่ลูก ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ติดเชื้อมักไม่ทราบว่าตนติดเชื้อแต่จะทราบอีกทีก็เมื่อเริ่มมีอาการรุนแรง หรือเป็นตับแข็งและมะเร็งตับแล้ว ซึ่งล่าช้าเกินไป ความรู้ความเข้าใจของประชาชนจึงมีความสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงได้จัดสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2560 ภายใต้คำขวัญ “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” โดยประชาชนสามารถขอรับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคม 2560 ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 104 แห่ง ในทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

Dr.Mukta Sharma กล่าวว่า สถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบทั่วโลก พบว่าโรคไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 7 ของโลกและเป็นโรคติดต่อเพียงหนึ่งเดียวที่อัตราการเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบในแต่ละปีเทียบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจากวัณโรค เอดส์ และมาลาเรียรวมกัน หรือมากกว่า โดยร้อยละ 90 เกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ทั้งนี้ ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก เมื่อปี 2553 และปี 2557 เรียกร้องให้มีการพัฒนายุทธศาสตร์ระดับโลกในการรับมือกับโรคไวรัสตับอักเสบ ต่อมาในปี 2559 ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์สุขภาพระดับโลกปี 2559–2564 โดยมีเป้าประสงค์ร่วมกัน คือ การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของภูมิภาคเอเซียตะวันออกและเอเซียใต้ให้หมดไปภายในปี 2573 ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกดำเนินการใน 5 ด้านสำคัญ คือ 1.ข้อมูลเพื่อการจัดการที่ตรงจุด 2.มาตรการที่ได้ผล 3.บริการที่เสมอภาค 4.งบประมาณเพื่อความยั่งยืน และ 5.นวัตกรรมเพื่อเร่งขยายผล

ด้าน รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า จากประมาณการพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี พบ 1 คนในทุกๆ 12 คน ในประเทศไทยพบความชุกการติดเชื้อไวรัสตับบี 5-8 % ไวรัสตับอักเสบซี 1-2% โดยพบว่ามีอัตราการติดเชื้อจากโรคตับอักเสบสูงกว่าโรคติดเชื้อชนิดอื่นที่อันตราย เช่นโรคเอดส์ หรือโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งประชาชนให้ความสนใจในการป้องกันและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบน้อยมาก โดยส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ทั้งนี้ ในการรักษาเเม้ว่าไวรัสตับอักเสบบีจะรักษาให้หายขาดได้น้อย เเต่การรักษาสามารถควบคุมให้โรคสงบเเละป้องกันการเเพร่เชื้อ ส่วนไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้เเล้ว ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สงสัยว่าจะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบมาคัดกรองโรค โดยเฉพาะ 1.ผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 2.ผู้ที่เคยใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด 3.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 4.ผู้ที่เคยได้รับเลือดหรือสารเลือด 5.ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 6.ผู้ที่เคยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 7.ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย 8.ผู้ที่มีคนในครอบครัว ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี 9.ผู้ที่เคยสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม ในที่ที่ไม่ใช่สถานพยาบาล 10.ผู้ที่เคยได้รับการฉีดยาหรือผ่าตัดเล็กด้วยแพทย์พื้นบ้าน 11.ผู้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยถูกเข็มหรือของมีคมตำ 12.ผู้ที่เคยใช้อุปกรณ์บางชนิดร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บเข็มฉีดยา เป็นต้น เป็นต้น

สำหรับโรงพยาบาลทั้ง 104 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้

1. ภาคเหนือ ได้แก่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่, รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่, รพ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, รพ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่, รพ.น่าน, รพ.เชียงคำ จ.พะเยา, รพ.พะเยา, รพ.แพร่, รพ.ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน, รพ.ลำปาง, รพ.ลำพูน, รพ.อุตรดิตถ์, รพ.กำแพงเพชร, รพ.พิจิตร, รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก, รพ.แม่สอด จ.ตาก, รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, รพ.สุโขทัย และ รพ.ศรีสังวรสุโขทัย

2. ภาคกลาง ได้แก่ รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี, รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี, รพ.ชัยนาทนเรนทร จ.ชัยนาท, รพ.นครนายก, รพ.นครปฐม, สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี, รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี, รพ.ปทุมธานี, สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จ.ปทุมธานี, รพ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.พระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี, รพ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี, รพ.สมุทรปราการ, รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม, รพ.สมุทรสาคร, รพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, รพ.สิงห์บุรี, รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี

รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จ.สุพรรณบุรี, รพ.สระบุรี, รพ.อ่างทอง, รพ.อุทัยธานี, รพ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี, รพ.ราชบุรี, รพ.โพธาราม จ.ราชบุรี, รพ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี, รพ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี, รพ.ประจวบคีรีขันธ์, รพ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, รพ.ชลบุรี, รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี, รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, รพ.ตราด, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, รพ.ระยอง และ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ รพ.กาฬสินธุ์, รพ.สิรินธร จ.ขอนแก่น, รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น, รพ.ขอนแก่น, รพ.ชัยภูมิ, รพ.นครพนม, รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา, รพ.บึงกาฬ, รพ.บุรีรัมย์, รพ.มหาสารคาม, รพ.มุกดาหาร, รพ.ยโสธร, รพ.ร้อยเอ็ด, รพ.เลย, รพ.สกลนคร, รพ.สุรินทร์, รพ.ศรีสะเกษ, รพ.หนองคาย, รพ.หนองบัวลำภู, รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ รพ.อำนาจเจริญ

4. ภาคใต้ ได้แก่ รพ.กระบี่, รพ.หลังสวน จ.ชุมพร, รพ.ตรัง, รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช, รพ.นราธิวาสราชนครินทร์, รพ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส, รพ.ปัตตานี, รพ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, รพ.ตะกั่วป่า จ.พังงา, รพ.พังงา, รพ.พัทลุง, รพ.วชิระภูเก็ต, รพ.ระนอง, รพ.ละงู จ.สตูล, รพ.สตูล, รพ.หาดใหญ่, รพ.สิงหนคร จ.สงขลา, รพ.จะนะ จ.สงขลา, รพ.ธัญญารักษ์สงขลา, รพ.สงขลา, รพ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, รพ.สุราษฎร์ธานี,  รพ.เบตง จ.ยะลา และ รพ.ยะลา