ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองนัดประชุมด่วน เพิ่มเนื้อหากฎหมายให้ สปสช.มีอำนาจจัดซื้อยาร่วมกับ สธ. ตั้งแต่ขั้นตอนการทำ List รายการยาและเจรจาต่อรองราคาร่วมกัน แต่ตอนจ่ายเงินต้องโอนให้ สธ.เป็นคนจ่าย

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ… สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่า วันที่ 4 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้เรียกประชุมด่วน เพื่อพิจารณาแก้ไขเนื้อหากฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการจัดซื้อยารวม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อยารวม ในกลุ่มที่มีความจำเป็น ยาราคาแพง และยาเฉพาะต่างๆ แต่ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า สปสช.ไม่มีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มีเสียงเรียกร้องให้คณะพิจารณาร่างกฎหมายฯ เพิ่มเติมตัวบทให้อำนาจ สปสช.ในการจัดซื้อยา แต่ทางคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯก็ไม่ได้เพิ่มเติมอำนาจในส่วนนี้ให้

กระทั่งร่างกฎหมายฯ พิจารณาจนแล้วเสร็จและส่งเรื่องต่อให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็มีความเห็นจากหลายฝ่ายมายังรัฐมนตรี รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช.ก็ให้ข้อมูลเรื่องการจัดซื้อยาว่าถ้าไม่เขียนแก้ในกฎหมาย หรือไม่เพิ่มอำนาจรองรับให้หน่วยงานจัดซื้อ จะไม่มีหน่วยงานไหนจัดซื้อได้ แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รัฐมนตรีจึงส่งเรื่องกลับมาให้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ อีกครั้งว่ามีความเห็นอย่างไร ทำให้ประธานคณะกรรมการแก้กฎหมายฯ นัดประชุมด่วน โดยวาระการประชุมมีเรื่องเดียวคือเพิ่มเติมในกฎหมาย เขียนให้ชัดเจนว่าให้มีการจัดซื้อยาจำเป็น ยาจำเพาะต่างๆ โดยให้ดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ สปสช. และให้อำนาจบอร์ด สปสช.ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อ

“เนื่องจากการปฏิบัติจริงในปีงบประมาณ 2561 มันทำไม่ได้ เพราะ สตง.ชี้ว่า สปสช., บอร์ด สปสช.ไม่มีอำนาจ สธ.ก็ไม่มีอำนาจ และถ้าแค่โอนเงินไปให้โรงพยาบาลจัดซื้อได้เองมันยุ่งยาก เพราะต้องโอนเงินให้โรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลอื่นจะซื้ออะไรก็ต้องโอนเงินมาให้โรงพยาบาลที่จัดซื้ออีกที มันยุ่งยากไปหมด เลยจำเป็นต้องเขียนเพิ่มในกฎหมาย ก็ถือว่าดีเพราะถ้ามองในแง่ประชาชนก็คือรับประกันว่ามีการซื้อยาแน่นอน” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

สำหรับแนวทางการจัดซื้อยาร่วมกันนั้น ในตัวบทจะเขียนให้ทั้ง สธ.และ สปสช.ทำ List รายการร่วมกัน ว่ารายการไหนที่จำเป็นต้องจัดซื้อ ซึ่งก็เป็นการรับประกันในเบื้องต้นว่ายาที่เคยซื้อมาทั้งหมดก็ยังซื้ออยู่ หลังจากนั้นเมื่อทำ List รายการร่วมกันเสร็จ ก็ให้เจรจาต่อรองการซื้อร่วมกัน และเมื่อเจรจาต่อรองได้แล้ว เมื่อถึงเวลาจัดซื้อจริงๆ ก็ให้ สปสช.ส่งเงินให้ สธ. เป็นคนจ่าย

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คงไม่มีการพิจารณาประเด็นอื่นอีก และจะทำเรื่องกลับไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐมนตรีจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อใดและมีการดำเนินการออกกฎหมายเร็วแค่ไหน