ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย การช่วยเหลือตามมาตรา 41 สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขตาม ตั้งแต่ปี 47 ดูแลกว่า 8,417 ราย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ป่วยและญาติ เผยใช้งบประมาณรวม 1.3 พันล้านบาท เฉลี่ยปีละ 107 ล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ ซ้ำผลลัพธ์คุ้มค่า ลดความขัดแย้งระบบสาธารณสุข ลดฟ้องร้องแพทย์ได้

นพ.ชูชัย ศรชำนิ

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แม้ว่าในทางการแพทย์ย่อมมีโอกาสที่เกิดขึ้นได้ แต่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่นอนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วผู้ที่ได้รับความเสียหายควรได้รับการดูแลและช่วยเหลือเบื้องต้น นอกจากเป็นการบรรเทาความเดือนดอนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขได้ ด้วยเหตุนี้ในมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงกำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการตาม ม.41 ได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายบริการสาธารณสุขแล้ว ยังเป็นแนวทางนำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยลงได้ โดยเฉพาะช่วยลดการฟ้องร้องในระบบบริการสาธารณสุขที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นการดำเนินการครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้น ทั้งยังเป็นระบบที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้แพทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองในการรักษากรณีหากเกิดเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ขึ้น

นพ.ชูชัย กล่าวว่า จากรายงานการพิจารณาคำร้องและให้การช่วยเหลือเบื้อต้นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ตาม ม.41 โดยสำนักกฎหมาย สปสช.ตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนมีนาคม 2560 มีผู้ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 10,207 ราย ในจำนวนนี้เข้าเกณฑ์รับการช่วยเหลือ 8,417 ราย และไม่เข้าเกณฑ์รับการช่วยเหลือ 1,790 ราย เป็นการช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต 4,440 ราย พิการ 1,264 ราย และอุทธรณ์ 1,026 ราย รวมเป็นจำนวนเงินการจ่ายช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายในระบบทั้งสิ้น 1,395,665,113 บาท

ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลรายงานการพิจารณาคำร้องและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ตาม ม.41 ในปี 2547 ที่เป็นปีที่เริ่มต้น มีผู้ยื่นคำร้อง 99 ราย เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ 73 ราย รวมเป็นจำนวนเงินช่วยเหลือ 13 ล้านบาท ต่อมาในปี 2548-2560 มีจำนวนการยื่นคำร้องเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีการยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือ 1,069 ราย เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ 885 ราย เป็นเงินช่วยเหลือ 212,952 ล้านบาท สำหรับในปี 2560 นี้จากข้อมูล ณ เดือนมีนาคม มีการยื่นคำร้อง 265 ราย เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ 196 ราย เป็นเงินช่วยเหลือ 52,523,800 บาท และเมื่อดูภาพรวมโดยเฉลี่ยในช่วง 13 ปี มีผู้ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือเฉลี่ย 828 ราย/ปี เป็นจำนวนเงินเฉลี่ย 107 ล้านบาท/ปี

“ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันการยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนี้ และแม้ว่างบประมาณเพื่อช่วยเหลือจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตาม แต่ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าจากที่มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงที่เริ่มต้นระบบ สะท้อนให้เห็นว่าถ้าหากเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว กลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย (Doctor- Patient Relationships) ไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่ได้ยังก่อให้เกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยที่นำไปสู่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงการฟ้องร้องนับว่าเป็นความปรารถนาสูงสุดของการสร้างสรรค์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการให้คุณค่ากันและกันระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์ตามหลักการ Value based Healthcare” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเกิดความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข สามารถยื่นคำร้องได้โดยผู้ป่วยหรือญาติ ได้ที่ สปสช.ทั้ง 13 เขต ซึ่งจะมีการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 30 วัน โดยมีอัตราช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้

1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการ รักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต 240,000-400,000 บาท

2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต 100,000-240,000 บาท

และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1330 สปสช.หรือ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ หรือศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 50(5)