ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตรองเลขาธิการ สปสช.ชี้ ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ทำให้เกิดความอลหม่านในระบบสุขภาพและเพิ่มต้นทุนการบริหารจัดการ ติงรัฐบาลระวังผลข้างเคียงจนเสียคะแนน แนะประกาศลงทุนงบประมาณปฏิรูประบบปฐมภูมิให้คนจนได้ยาดีๆ พัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้านให้มีคุณภาพจะได้คะแนนนิยมมากกว่า

นพ.ชูชัย ศรชำนิ

นพ.ชูชัย ศรชำนิ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติหรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้ว่า ในเชิงวิชาการระบบซุปเปอร์บอร์ดไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตลอดจนระบบประกันอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งแต่ละระบบก็มีประวัติศาสตร์การปกป้องสิทธิของประชาชนด้วยโมเดลที่หลากหลาย การมีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมากลับส่งผลกระทบดังนี้

1.แทนที่จะทำให้เกิดความเรียบร้อยกลับจะก่อให้เกิดความอลหม่านของระบบด้วยซ้ำ เพราะแต่ละระบบมีประวัติศาสตร์ มีบอร์ดของตัวเอง เมื่อมีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมา บอร์ดของแต่ละระบบก็จะต้องมีอีกขั้นตอนเพิ่มขึ้นคือรายงานเข้าไปที่ซุปเปอร์บอร์ดว่าทิศทางยุทธศาสตร์ของตัวเองเป็นอย่างไร และซุปเปอร์บอร์ดคิดว่าอย่างไร ในเชิงกฎหมายเกิดการก้าวก่ายหรือเข้าไปแทรกแซงกัน รวมทั้งนโยบายการจัดสรรงบประมาณ แม้เนื้อความกฎหมายจะบอกว่าเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกัน แต่ ณ ปัจจุบัน งบประมาณขาเข้ามีความหลากหลาย อย่างเช่นระบบประกันสังคมมีงบประมาณขาเข้า 3 ขาจะทำอย่างไร ขณะที่งบประมาณขาลง แต่ละระบบก็บริหารจัดการต่างกัน ประกันสังคมจัดสรรแบบหนึ่ง สปสช.ทำอีกแบบ หากซุปเปอร์บอร์ดจะเข้ามาจัดการเรื่องเหล่านี้คงอิหลักอิเหลื่อพอสมควร

“ผลดีของซุปเปอร์บอร์ดเท่าที่เห็น คิดว่าคงมีแค่เรื่องการมีนโยบายให้ซื้อยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์สเปคเดียวกันเพื่อช่วยในเรื่อง Economy of Scale หรือการประหยัดจากขนาด ส่วนอย่างอื่นผมยังมองไม่เห็น” นพ.ชูชัย กล่าว

2.การมีซุปเปอร์บอร์ดจะเพิ่มต้นทุนการบริหารจัดการ ทั้งในรูปของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ตัวเงินก็คือมีบอร์ดขึ้นมา แม้จะใช้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ต้องมีค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนถามความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ส่วนต้นทุนที่ไม่ใช่เงินก็คือค่าเสียโอกาสเนื่องจากมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมา ประชาชนเวลาจะปกป้องสิทธิด้านสุขภาพของตัวเองก็มีขั้นตอนมากขึ้นอีก 1 ขั้นตอน

“ดังนั้นผมคิดว่าซุปเปอร์บอร์ดยังไม่มีความจำเป็น ที่ผ่านมาอาจมีคำถามว่าประเทศเรามี Cost Effective หรือการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในการบริหารระบบสุขภาพหรือไม่ กระจายความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคมได้หรือไม่ มีความเหลื่อมล้ำในแง่สิทธิประโยชน์หรือไม่ ถึงต้องมีซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมา ก็ถามว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์แบบนั้นหรือไม่ ผมอาจจะตอบแบบมีอคติว่ามันเป็นจริงอยู่ไม่มาก ที่บอกว่าไม่มากนี้เป็นผลการศึกษาไม่ว่าจะโดยองค์การอนามัยโลกหรือของนักวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข/เศรษฐศาสตร์สังคมหลายๆค่าย ซึ่งก็พอจะตอบโจทย์ในเรื่องความเท่าเทียม หรือในการจัดอันดับของธนาคารโลก ประเทศไทยก็มีอันดับที่ดีในเรื่องประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ” นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า เข้าใจว่ารัฐบาลอาจคิดว่าทำเรื่องนี้เพื่อเป็นผลงานรัฐบาล แต่คิดหรือว่าทำแบบนี้แล้วจะได้เสียงสนับสนุน โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าจะเป็น Adverse Effect หรือผลข้างเคียงด้วยซ้ำ เพราะงานพวกนี้เป็นงานระดับหอคอยงาช้างทั้งสิ้น ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าซุปเปอร์บอร์ดมีประโยชน์อย่างไร จะทำให้ลูกหลานสุขภาพฟันแข็งแรงขึ้นหรือไม่ การเจริญเติบโตจะดีขึ้นไหม ผู้สูงอายุได้รับการดูแลดีขึ้นอย่างไร รู้แต่ว่าข้างบนกำลังมีกฎหมายและทำให้ขั้นตอนยาวขึ้น ดังนั้นระวังว่าแทนที่รัฐบาลจะได้คะแนนเสียงกลับจะเสียคะแนน

“ไปปฏิรูประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือ Primary Health Care ให้ดี มีระบบราคากลางยาของประเทศที่คุ้มครองผู้บริโภค ทำให้คนยากจนเข้าถึงยาที่จำเป็นและมีคุณภาพ ดูแลผู้สูงอายุให้ดี ทำแค่นี้ได้คะแนนเสียงด้วย เป็นผลงานคณะปฏิรูปด้วย ดีกว่าทำงานของหอคอยงาช้างหรือไปยกร่างกฎหมายสุขภาพปฐมภูมิแล้วบอกว่านี่เป็นผลงานการปฏิรูป ชาวบ้านเขาไม่อยากรู้หรอก เขาอยากรู้ว่า รพ.สต.ใกล้บ้านจะดีกว่านี้ไหม จะมียาดีๆ ให้ไหม แต่ถ้าบอกว่าจะลงทุนกี่ล้านๆ ในระบบปฐมภูมิ จะเอาประชารัฐมาให้เอกชนร่วมลงทุนทำให้ รพ.สต.ใกล้บ้านเป็นเหมือนสวรรค์วิมานเลยนะ จะทำให้มีพยาบาลเท่านี้คนในแต่ละ รพ.สต. หรือมี Care Giver ผู้ดูแลผู้สูงอายุตำบลละกี่คน แบบนี้ชาวบ้านฟังเข้าใจง่ายกว่า ได้คะแนนตรึม แต่ถ้าบอกว่ามีกฎหมายแล้วและจะทำสุขภาพปฐมภูมิชาวบ้านอยากรู้ไหมว่ามันคืออะไร แบบนี้หรือที่เรียกว่าปฏิรูป” นพ.ชูชัย กล่าว