ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ หนุน สปสช.เดินหน้ารุกขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการรักษา พร้อมระบุไม่ว่าสัญชาติใดเจ็บป่วยได้เหมือนกัน ในฐานะคนไทยควรได้รับสิทธิคุ้มครองด้านสุขภาพเช่นกัน

นายพงษ์ภัทร หงส์สุขสวัสดิ์

เมื่อเร็วๆ นี้ในการเสวนา “กลุ่มเปราะบาง : ความท้าทายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ภายใต้เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับยริการระดับประเทศ ประจำปี 2560 “ปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็น: จุดเริ่มต้นจากนโยบายสู่การปฏิบัติ” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายพงษ์ภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันออก ในฐานะผู้แทนกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพว่า ในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์เชื้อสายมอญ ยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนนอกสายตาและถูกละเลยมาโดยตลอด หากพูดถึงสิทธิ เราเปรียบเรื่องนี้เป็นเหมือนแสงไฟที่อยู่ปลายอุโมงค์ที่เห็นรำไร แต่ไมรู้เมื่อไหร่จะเข้าถึงสิทธิในฐานะที่เป็นคนไทยกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งสิทธิที่ถูกจำกัดนั้น มีตั้งแต่การประกอบอาชีพ การศึกษา รวมถึงสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพ

นายพงษ์ภัทร กล่าวว่า ตัวอย่างปัญหาของการเข้าถึงไม่ถึงสิทธิ อาทิ ในด้านการศึกษา ซึ่งตนเองในช่วงวัยเรียนเมื่อจบการศึกษาในแต่ละระดับต้องคิดถึงสถานศึกษาต่อหนักมาก ว่าจะมีที่ใดรับเรียนต่อได้บ้าง อย่างใน จ.กาญจนบุรีมีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แม้ว่าขณะนั้นจะอยู่ในสิทธิโค้วต้าเข้าเรียนอันดับ 1 แต่ด้วยอาศัยอยู่นอกเขตทำให้ไม่สามารถเข้าศึกษาได้ ทั้งเมื่อจบการศึกษาแล้วประกาศนียบัตรที่ได้รับยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมายอีก ส่วนสิทธิด้านการรักษาพยาบาลไม่ต้องพูดถึง เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น หากไม่มีเงินรักษาก็ต้องใช้วิธีแบบชาวบ้าน รักษากับหมอชาวบ้าน รักษาโดยใช้พิธีกรรมต่างๆ ที่คิดว่าช่วยรักษาให้หายได้

“ผมได้สัญชาติไทยมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่การขอสัญชาติไม่ใช่เรื่องง่าย โดยได้ยื่นตามมาตรา 7 ทวิ พ.ร.บ.สัญชาติฯ ซึ่งกรมการปกครองได้ลงมาพื้นที่เพื่อสำรวจการให้สัญชาติ และให้ยื่นเอกสารหลักฐานผ่านทางอำเภอ แต่ปรากฎว่าหลักฐานเหล่านั้นที่เรายื่นไปกลับถูกกองไว้ที่ใต้บันไดอำเภอ ไม่เคยนำส่งถึงส่วนกลาง เราจึงต้องลุกขึ้น ทำให้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนวิธีคิดและเข้าไปยื่นเรื่องที่ส่วนกลางเอง ใช้ดำเนินการกว่า 4 ปี จึงได้สัญชาติไทยมาได้ ปัจจุบันในหมู่บ้านที่อาศัยมีสัญชาติไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่ได้รับสัญชาติแต่อย่างใด โดยบางคนยังถูกระบุให้เป็นสัญชาติมอญทั้งที่ไม่เคยมีประเทศมอญ” นายพงษ์ภัทร์ กล่าว

นายพงษ์ภัทร กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งมุ่งขยายการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งที่ดีหาก สปสช.ทำได้ เพราะสิ่งที่ทุกคนต่างหนีไม่ได้คือความเจ็บป่วย เพราะไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในสัญชาติใดต่างเจ็บป่วยได้เช่นกัน และในฐานะที่เป็นคนไทยก็ควรได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้เพื่อคุ้มครองด้านสุขภาพเช่นเดียวกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง