ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เอฟทีเอ ว็อทช์"หวั่นรัฐบาลใช้ ม.44 เร่งรัดการออกสิทธิบัตรยาหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเข้าหารือ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ชี้มีคำขอสิทธิบัตรยาตกค้างกว่า 3,000 ฉบับแต่กว่า 84% ไม่มีคุณภาพ หากเร่งรัดออกสิทธิบัตรเกิดปัญหาแน่ จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญามีมาตรการคัดกรองและป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะกับยาจำเป็นของประชาชน

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 8 ส.ค. 2560 โดยมีประเด็นการเร่งอนุมัติสิทธิบัตรยาเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องการนั้น ตนเป็นกังวลว่าการหารือในวันนี้จะนำไปสู่การเร่งออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนทางการเมืองให้ คสช.ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศมากขึ้นจนอาจละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า สหรัฐฯ กดดันประเทศไทยมาหลายรอบ ทั้งจากเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำและเร่งรัดให้ไทยออกสิทธิบัตรเนื่องจากยังมีคำขอสิทธิบัตรยาที่ตกค้างกว่า 3,000 ฉบับ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าคำขอสิทธิบัตรยา 3,000 ฉบับนี้เป็นคำขอที่ไม่ได้คุณภาพมากถึง 84% ซึ่งจะเป็นการทำลายการสร้างสรรค์นวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป็นภาระงบประมาณด้านสุขภาพในที่สุด

ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ยังได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 8 ส.ค. 2560 เพื่อขอร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

“จริงอยู่ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องการสะสางคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง แต่ก็ต้องมีมาตรการป้องกันผลกระทบจากการเร่งพิจารณาคำขอสิทธิบัตรต่อการเข้าถึงยาตามที่ภาคประชาสังคมได้แสดงความกังวลและนำเสนอข้อมูลไป เราต้องการติดตามว่าจะมีมาตรการคัดกรองคำขอสิทธิบัตรอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับยาจำเป็นของประชาชน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขียนบทความระบุว่า คำขอสิทธิบัตรยากว่า 3,000 ฉบับนี้ เป็นคำขอ Ever greening Patent ที่ไม่ใช่ยาใหม่ เพียงแต่ปรับปรุงผลิตเพียงเล็กน้อยถึง 84% ซึ่งการทำเช่นนี้เพื่อผูกขาดยาโดยบริษัทผู้ผลิตต่อไป ทำให้ยารายการดังกล่าวยังคงขายในราคาแพงได้ ดังนั้นหากยาที่จำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยเกิดการผูกขาด นั่นหมายถึงต้นทุนการรักษาพยาบาลย่อมเพิ่มสูงขึ้นตาม

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาสิทธิบัตรเฉพาะสิทธิบัตรยา ควรมีการจำแนกพิจารณาว่ายารายการใดอยู่ในกลุ่มที่ควรได้สิทธิบัตร และยารายการใดที่อยู่ในกลุ่ม Ever greening Patent โดยตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาโดยเฉพาะ มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม นักวิชาการที่ศึกษาปัญหาด้านยา และ สปสช. เป็นต้น ซึ่งต่างพร้อมส่งผู้แทนเข้าร่วมพิจารณา ทั้งนี้เพื่อป้องกันคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ใช่ยาใหม่จริงแต่หวังผูกขาดยาในท้องตลาดจนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยและประเทศในภายหลัง

8 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น. นาย Rex W. Tillerson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล