ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ป่วย แถลงข่าว จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศ หลังถูก “รองนายกฯ วิษณุ” เบี้ยวนัดพบ ระบุสัปดาห์หน้าหากยังจัดซื้อยาปี 61 ไม่ได้ เกิดหายนะแน่ เตรียมบุกทำเนียบอีกครั้ง เผยสถานการณ์ล่าสุด รพ.ทั่วประเทศเริ่มป่วน เร่งสต๊อกยาล่วงหน้ากันปัญหาผู้ป่วยขาดยาระหว่างรอความชัดเจนจัดซื้อ พร้อมชี้ต้นตอปัญหา สตง.ไล่บี้จนเกิดภาวะสูญญากาศ ใหญ่กว่าหน่วยงานปฏิบัติ ใหญ่กว่ารัฐมนตรี

ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล – เมื่อเวลา 10:30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วย นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าวภายหลังจากที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกการนัดร่วมหารือกรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมระดับประเทศที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ และมีแนวโน้มวิกฤตด้านยาในอนาคต เนื่องจากยาในโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีปริมาณลดลง

กล่าวว่า ในวันนี้เรามีนัดกับท่านรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุเพื่อเข้าพบและพูดคุยปัญหาที่ สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อยาได้ และชี้แจงข้อติดขัดว่าใครควรทำหน้าที่จัดซื้อ โดยมีการนัดหมายกันตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่กลับถูกยกเลิก โดยอ้างว่าเมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และ สปสช.ให้ไปแก้ปัญหาแล้ว ทั้งนี้ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อระหว่างปีงบประมาณ 2560-2561 ตามช่วงเวลาปกติของทุกปี ในเดือนสิงหาคมนี้จะต้องมีการกำหนดแผนการจัดซื้อและต่อรองราคายาร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยเป็นขั้นตอนที่ต้องทำก่อนสิ้นปีงบประมาณ เป็นวิธีการสต๊อกยาล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วย 4-5 แสนคนให้ได้รับยาต่อเนื่อง และวันนี้หากยังไม่มีหน่วยงานใดจัดซื้อแล้วผู้ป่วยที่ต้องเข้าถึงยาจะได้รับยาจากไหน การที่ผู้ป่วยต้องเผชิญสถานการณ์ที่กำลังขาดยานี้มาจากการบริหารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สปสช.และ สธ.

“วันนี้เริ่มเกิดสถานการณ์ที่แต่ละโรงพยาบาลกังวลว่าจะขาดยา จากปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศที่เกิดขึ้น จึงได้เริ่มพยายามสั่งสต๊อกยาเผื่อล่วงหน้าไว้ เรียกว่าห้องยาทั่วประเทศเริ่มปั่นป่วนแล้ว โดยผู้ป่วยที่ต้องรับยา มีทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามหากการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อยายังไม่มีความชัดเจน ในสัปดาห์หน้าผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจะมาทวงถามความชัดเจนที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง และคงต้องมาเยอะกว่านี้

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เป็นประธานเพื่อแก้ปัญหา แต่สำนักงานตรวงเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังคงยืนยันว่าปี 2561 ยังไง สปสช.ก็ซื้อยาไม่ได้ ซึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.ยังบอกว่าตอนนี้กำลังเล่นอยู่กับชีวิตผู้ป่วย อาจะทำให้คนตาย เพราะคงประเมินแล้วว่า สธ.เองก็คงยังจัดซื้อยาไม่ได้ ขณะเดียว สปสช.เองก็ไม่กล้าซื้อเพราะถูก สตง.ไล่บี้ตรวจสอบทำให้ไม่กล้าซื้อ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในสถานะสุญญากาศ ถูก สตง.ไล่บี้ว่าทำไม่ได้ และทุกคนกลัว สตง. หน่วยงานตรวจสอบกำลังใหญ่กว่าหน่วยงานปฏิบัติ กำลังใหญ่กว่ารัฐมนตรี ใหญ่กว่ารองนายกรัฐมนตรี และเท่าที่ตามข่าว รมว.สาธารณสุขเองก็กำลังกังวล เพราะไม่อยากเผชิญสถานการณ์ที่ผู้ป่วยขาดยาและเสียชีวิตในมือการบริหาร ทั้งนี้หากไม่มีใครเซ็นสั่งซื้อยาในสัปดาห์หน้าหายนะเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือ ผู้กำกับนโยบาย ครม. นายกรัฐมนตรี ต้องมีคำสั่งอะไรก็ได้ลงมาให้ สปสช.ซื้อยาได้ ในระหว่างการรอแก้ไข พ.รบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นายอนันต์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศที่ต้องรับยาต้านไวรัสมีประมาณ 3 แสนคน โดยคนเหล่านี้ต้องกินยาทุกวัน แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะขาดยาได้แต่หากต้องเริ่มต้นกินยาต้านไวรัสใหม่อาจทำให้ค่ารักษาเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูว่าสามารถกินยาต้านไวรัสสูตรเดิมได้หรือไม่ มีการดื้อยาแล้วหรือยัง และหากต้องเปลี่ยนยาต้านไวรัสสูตรใหม่ นั่นหมายถึงค่ายาที่เพิ่มขึ้น โดยยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานราคาอยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อเดือน แต่ยาต้านไวรัสสูตรดื้อยามีสูงถึง 8,000-10,000 บาท ภาระตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้าน นายธนพลธ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีเวลารอให้เชื้อเกิดภาวะดื้อยาได้ ซึ่งหากไม่สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมระดับประเทศได้ จะทำให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องต้องเผชิญชะตากรรม เพราะหากไม่ได้รับการล้างไตภายใน 3 วัน จะเกิดภาวะน้ำท่วมปอดและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องประมาณ 2.5 หมื่นคน ตรงนี้ต้องถามว่าโรงพยาบาลจะรับไหวหรือไม่ รวมทั้งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเปลี่ยนเป็นการฟอกไตแทน ทั้งเครื่องฟอกไต บุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณขณะนี้ต้องถามว่าเพียงพอต่อการรองรับหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายผู้ป่วยอาจต้องร่วมจ่ายอีก

นอกจากนี้ผู้ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยังต้องรับยาอีริโทรโพอิติน (erythropoietin) ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง หากระบบขาดยา ไม่มียาให้กับผู้ป่วยแล้วเสียชีวิต ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ อยากฝากถึงผู้ใหญ่ว่า อย่าเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นเดิมพันเพราะทุกชีวิตก็มีค่า จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร็ว

ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาด้านยาที่เกิดขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์บางรายการโดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมติบอร์ด สปสช. ตาม มาตรา 18(4) สตง.ไม่เคยมีมีข้อท้วงติง เพิ่งมีข้อท้วงติงหลังรัฐประหาร แต่เสนอให้แก้ไขด้วยการออกระเบียบ แต่เหตุใดขณะนี้ สตง.จึงคัดค้านการแก้สถานการณ์จัดซื้อยาปี 61 ด้วยมติบอร์ดและมติ ครม. ค้านทุกทาง สตง.ทราบหรือไม่ว่า กำลังเล่นกับชีวิตของผู้ป่วย 4-5 แสนคน ทั้งที่ สตง.ก็รู้และเคยมีข้อสังเกตว่า หากไม่มีกลไกดังกล่าว รัฐต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มอีกปีละ 5,000 ล้านบาท สำหรับค่ายาที่แพงขึ้น จึงไม่เข้าใจว่าขณะนี้ สตง.กำลังทำอะไร