ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุภายใต้แนวคิดไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย จัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติ ปี 2560เปิดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี พร้อมมอบโล่เชิดชูบุคคล-องค์กรต้นแบบการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุ

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติ ประจำปี 2560 ว่า สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ มีเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพแข็งแรง ผู้สูงอายุ 1 ใน 2 คน อ้วน และเป็นโรคอ้วน และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 46 ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว จำนวน 6 แสนคน หรือร้อยละ 7.7 อยู่ลำพังกับคู่สมรส จำนวน 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 16

ในปี 2555 ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2553 พบร้อยละ 19.7 และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.3 ในปี 2583 และในปี 2553 องค์การ องค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International : ADI) ได้ประเมินว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า มีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อม ร้อยละ 8.1 โดยพบในผู้สูงอายุชายร้อยละ 6.8 ผู้สูงอายุหญิงร้อยละ 9.2 หรือเท่ากับผู้สูงอายุวัยเกิน 60 ปี ทุกๆ 12 คน จะพบเป็นโรคสมองเสื่อม 1 คน

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า กรมอนามัยตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ตั้งเป้าหมายให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 85 ปี และต้องอยู่อย่างมีสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 75 ปี ที่ผ่านมามีการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพเเก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุด้วยแนวคิดไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อยหรือ 4 Smart ได้แก่

1) Smart Walk ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

2) Smart Brain & Emotional ดูแลฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่

3) Smart Sleep คือ นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

และ 4) Smart Eat กินอาหารตามหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล ซึ่งมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี เพื่อความสามารถในการบดเคี้ยวอาหาร มีฟันใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ 4 คู่สบ

ตลอดจนการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ความรอบรู้สำหรับประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน สูงวัย สมองดี และคู่มือส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและป้องกันภาวะสมองเสื่อม ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย

“ทั้งนี้ กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดี ให้มีสุขภาพแข็งแรง ยืดเวลาที่จะเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือการเข้าสู่ภาวะทุพพลภาพออกไป ด้วยการนำองค์ความรู้สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ส. คือสร้างความสัมพันธ์กับภาคีเครือข่าย สนับสนุนองค์ความรู้แนวทางการดำเนินงานให้กับภาคีเครือข่ายทุกระดับ และสรรเสริญด้วยการสร้างแรงจูงใจแก่บุคคลและหน่วยงาน โดยจัดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติ ประจำปี 2560 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุ พร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่บุคคลและองค์กรต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้เป็นต้นแบบการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ต่อไป” นพ.วชิระ กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า การประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติ ประจำปี 2560 ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากศูนย์อนามัยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ผู้สูงอายุและภาคีเครือข่ายประมาณ 500 คน