ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน เสียงข้างน้อย แถลงยันจุดยืน สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยา ปี 61 พร้อมค้านมติบอร์ดเสียงส่วนใหญ่ให้ รพ.ราชวิถี เป็นหน่วยงานจัดซื้อยาแทน หวั่นเวลาน้อย ขาดความพร้อม จัดซื้อไม่ทัน ระบบขาดแคลนยา ทำผู้ป่วยเสี่ยงไม่ได้รับยาต่อเนื่อง ซ้ำอาจทำผิด กม.เพิ่ม เหตุไม่มีการยืนยันว่ามติวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เสียงข้างน้อยในการประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษปีงบประมาณ 2561 นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง, น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล, นางสุนทรี เซ่งกิ่ง และ ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข, ซึ่งเป็นบอร์ดสัดส่วนภาคประชาชน ได้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม เพื่อยืนยันไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดที่เห็นชอบให้ รพ.ราชวิถีทำหน้าที่จัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ ปี 2561

น.ส.สารี กล่าวว่า เราเป็นเสียงข้างน้อยต่อมติที่ประชุมบอร์ดวันนี้ โดยยืนยันว่าการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ ปี 2561 ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน ควรมอบให้ สปสช.ดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเสนอภาคประชาชน แต่เป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เสนอต่อบอร์ดเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยขอให้ สปสช.ดำเนินการจัดซื้อยาต่อในปี 2561 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อซื้อยาร่วมกันระหว่าง สธ.และ สปสช. เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม และเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อเท็จจริง ทำให้มองว่า สธ.ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดซื้อยาในกรณีเร่งรัดนี้ได้ จึงควรให้ สปสช.ดำเนินการไปก่อน ดังนั้นมติบอร์ด สปสช.วันนี้จึงสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยในการเข้าถึงยาและอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนยาในระบบได้

อีกทั้งการติดสินใจเพื่อดำเนินการจัดซื้อยาในวันนี้ ไม่มีใครยืนยันว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีเครือข่ายบริการที่ทำหน้าที่จัดซื้อยา ทั้งการดำเนินการได้นั้นยังต้องไปออกประกาศ ระเบียบและกติกามากมาย แม้ว่าการจัดซื้อยาของ สปสช.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะชี้ว่าผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่เรากำลังทำใหม่นี้ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะไม่ผิดกฎหมาย และการที่เรามอบให้ รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาแทน สปสช.นั้น วันนี้ต้องถามว่า รพ.ราชวิถีมีความพร้อมแล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เคยมีการยืนยันจาก ผอ.รพ.ราชวิถี เป็นเพียงแต่การสั่งการโดยกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นจึงควรให้มีการจัดซื้อยาแบบเดิมที่ให้ สปสช.ดำเนินการ โดยเราต้องอธิบายให้ สตง.เข้าใจเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยในการเข้าถึงยา นอกจากนี้เราอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จึงควรแก้กฎหมายเพื่อรับรองสิ่งที่เราดำเนินการมาโดยตลอด

“เราไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ด สปสช.ที่ให้ รพ.ราชวิถีจัดซื้อยา เพราะเมื่อคิดว่ายังไม่มีความมั่นใจต่อศักยภาพการดำเนินการจัดซื้อยาเพื่อดูแลผู้ป่วย ทั้งในด้านกฎหมายอาจไม่ถูกต้องอีก เมื่อเป็นเช่นนี้เราสู้ใช้ระบบเดิมในการจัดซื้อยาซึ่งจะเป็นหลักประกันการดูแลผู้ป่วยที่ดีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่และผู้ป่วยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า เราตั้งข้อสงสัยการให้ความเห็น สตง.ต่อการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ 7 กลุ่ม ที่ สปสช.ดำเนินการให้กับผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งที่ผ่านมา สตง.ไม่เคยท้วงติงเลย แต่พึ่งมาทักท้วงในปี 2551 หลังรัฐประหาร ปลายปี 2557 บอกว่าไม่มีระเบียบให้ สปสช.ไปออกระเบียบเท่านั้น แต่จากนั้นก็กลับมีการขยายให้ดำเนินการที่เกินกฎหมาย เช่นให้เครือข่ายหน่วยบริการไปดำเนินการแทน สปสช. ทั้งเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ต้องเป็นการรวมตัวของหน่วยบริการกันเอง แต่นี่เป็นการที่ สธ.ไปบังคับให้มาเป็นหน่วยบริการเพื่อจัดซื้อยา ขณะที่มาตรา 45 และ 46 ไม่ได้ระบุว่าให้เครือข่ายหน่วยบริการจัดซื้อยาให้กันได้ และยังไม่ได้ดูถึง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ว่าให้หน่วยงานจัดซื้อให้กันได้หรือไม่ เมื่อดูแล้วยังต้องดูว่ายาและเวชภัณฑ์ที่ซื้อจะถือเป็นทรัพย์สินของ รพ.ราชวิถี และจะถ่ายโอนไปยังหน่วยงานอื่นได้หรือไม่ ขณะที่การดำเนินการครั้งนี้ที่เป็นมติบอร์ดก็ยังไม่มีการยืนยันความถูกต้อง ดังนั้นเราจึงไม่อยากทำผิดกฎหมายใหม่

ทั้งนี้ ข้อสังเกตของกรรมการเสียงข้างน้อย 4 คน ที่ค้านมติที่ให้ รพ.ราชวิถี เป็นเครือข่ายหน่วยบริการ จัดซื้อยาแทนสปสช. ตามโครงการพิเศษ ปี 2561 นั้น มีข้อสังเกต ดังนี้

1. การดำเนินการที่เสนอนั้นไม่มีกฎหมายรองรับ

1.1 การกำหนดให้อยู่ในรูปเครือข่ายหน่วยบริการ เพื่อมารับเงินกองทุนนั้น ขัดกับหน้าที่ของหน่วยบริการ (และเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา 44) ที่กำหนดในมาตรา 45 เพราะไม่มีการกำหนดหน้าที่ในการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์

1.2 คณะกรรมการจะใช้ฐานอำนาจอะไรในการโอนให้เครือข่ายหน่วยบริการดังกล่าว เพราะ ยังไม่ได้เกิดการให้บริการสาธารณสุข ถ้าจ่ายไปจะเป็นการจ่ายล่วงหน้า (Prepaid) ที่ สตง.เคยมีข้อทักท้วงและให้ สปสช.ยุติการจ่ายในลักษณะดังกล่าว

1.3 หากกรณี รพ.ราชวิถี สามารถซื้อยาได้ (ยาที่ซื้อถือเป็นสินทรัพย์ของราชวิถี) เรื่องการกระจายยา จะทำได้หรือไม่ โดยใช้ข้อกฎหมายใดในการรองรับ?

เท่าที่ผ่านมา ในงานบริหารเวชภัณฑ์ระดับโรงพยาบาล การขอรับการสนับสนุนเวชภัณฑ์ ข้ามสังกัดฯ กองฯ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากอยู่แล้ว การสนับสนุนข้ามไปยังกระทรวงอื่นฯ เช่น กระทรวงกลาโหมหรือกลุ่มโรงเรียนแพทย์ จะต้องมีกฎหมายใดมารองรับ

1.4 ภารกิจของโรงพยาบาลราชวิถี มีกฎหมายใดรองรับให้ทำหน้าที่จัดหายาให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน

2. ความพร้อมและความมั่นใจในการบริหารจัดการของ รพ.ราชวิถี ในการทำหน้าที่เป็นเครือข่ายหน่วยบริการเพื่อจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แทน สปสช.มีมากน้อยเพียงใด เช่น อำนาจการสั่งซื้อ การจัดการในด้านการสั่งซื้อ และการจัดการปัญหาหากมีปัญหายาขาดคราว ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบแก้ปัญหา ไม่ใช่องค์การเภสัชกรรม การโอนยาของตนเองไปให้หน่วยบริการอื่น