กรมอนามัย แนะประชาชนเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวานจัด หวั่นร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป เสี่ยงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ย้ำ สั่งหวานน้อย ลดกินหวาน ควบคุมน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ Global Agricultural Information Network ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำถึง 4.7 เท่าการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความจำเป็นจะทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญหรือนำไปใช้ไม่หมด กลายเป็นไขมันสะสมในร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุให้ร่างกายหลั่งสารอินซูลินออกมามากเกินจำเป็น ทำให้ในระยะยาวร่างกายจะผลิตอินซูลินได้น้อยลง หรืออินซูลินที่ผลิตออกมาด้อยประสิทธิภาพจนทำให้ร่างกายเกิดโรคเบาหวานการบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็น อาจทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลเกิน ซึ่งมาจากการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน และปัจจุบันการแข่งขันทางการตลาดของเครื่องดื่มในสูงขึ้น โดยมีการโฆษณาผ่านสื่อช่องทางต่างๆ และมีกิจกรรมส่งเสริมการขายมากมายทำให้เกิดกระแสนิยมของผู้บริโภคพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ประชาชนจึงควรกินหวานให้น้อยลง สั่งหวานน้อยเป็นประจำให้เป็นนิสัย เป็นการสร้างความเคยชินในการรับรสตัวเองและกลายเป็นคนไม่ติดหวานพยายามควบคุมการกินน้ำตาลแต่ละวันให้ไม่เกิน 6 ช้อนชา
ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีเครื่องดื่มรสหวานในท้องตลาดหลายชนิดที่ได้รับความนิยม เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชาเขียว น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และเครื่องดื่มชาชง กาแฟสด ซึ่งเครื่องดื่มรสหวานเหล่านี้จะมีส่วนประกอบของน้ำตาลปริมาณมากเกินปริมาณที่แนะนำต่อวันคือไม่เกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชาโดยน้ำอัดลมชนิดน้ำดำกระป๋อง 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 31 กรัม หรือ 8 ช้อนชา น้ำอัดลม น้ำสี และน้ำใสกระป๋อง 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 39 กรัม หรือ 10 ช้อนชา เครื่องดื่มชาเขียวน้ำผึ้งมะนาวขวด 500 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 49 หรือ 12 ช้อนชา เครื่องดื่มสมุนไพร 380 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 40 กรัม หรือ 10 ช้อนชา ส่วนกาแฟสดและชาชงแก้วขนาดกลาง มีน้ำตาล 36-40 กรัม 9-10 ช้อนชา ดังนั้น หากรู้สึกอยากดื่มน้ำหวานลองเลือกเป็นน้ำผลไม้สดทดแทนจะดีกว่า
- 521 views