ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรมเผย เภสัชกรขาดแคลน ทั้งที่ สธ.เน้นทีมหมอครอบครัวที่ต้องมีเภสัชไปด้วย แต่บุคลากรกลับไม่เพิ่มตาม ระบุ รพ.รัฐมีอัตราเภสัชกร 1 ต่อ 5,000 ประชากร หรือ 1.3 คน ต่อ 10,000 ประชากร ขณะที่ตามเกณฑ์ต้องการ 3.7 คน ต่อ 10,000 ประชากร

ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี

ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนเภสัชกรที่ยังทำงานอยู่ประมาณ 28,000 คน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าจำนวนเภสัชกรยังไม่เพียงพอในการดูแลผู้บริโภคและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมเพื่อดูแลสุขภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยารวมทั้งสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีการใช้ยาต่อเนื่องและซับซ้อน จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ในระยะเวลาอีกไปไม่ถึง 10 ปี และจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึง 25% ของประชากรทั้งหมดในปี 2583

ภายใต้สถานการณ์ความต้องการทางสุขภาพที่เปลี่ยนแปลง ผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากขึ้น อัตราโรคเรื้อรัง และปัญหาการดื้อยาที่สูงขึ้น ส่งผลให้ระบบสุขภาพเผชิญปัญหาการใช้ยาที่มีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยต้องการเวลาของเภสัชกรในการดูแลและให้บริการทางเภสัชกรรมมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาระบบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศ โดยกำหนดให้ทั้งประเทศมี 12 เขตสุขภาพและจัดแบ่งบทบาทหน้าที่ของสถานบริการเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่การบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิและตติยภูมิขั้นสูง โดยให้ในแต่ละเขตสุขภาพมีศักยภาพและสามารถจัดบริการได้ครอบคลุมในการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสำคัญได้ทุกโรคภายในเขตสุขภาพ เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยข้ามเขตหรือเข้ากรุงเทพมหานคร

ซึ่งทำให้บุคลากรด้านสุขภาพสาขาต่างๆ จะต้องมีการพัฒนาสมรรถนะในเชิงกว้างและเชิงลึกมากขึ้น ให้การทำงานของเภสัชกรสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา ป้องกันหรือแก้ปัญหาที่เกิดจากยา ติดตามและประเมินผลการใช้ยาให้เป็นไปตามความมุ่งหวังของแผนการรักษา ตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม

จากภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นกระทรวงสาธารณสุขมีความต้องการเภสัชกรเพิ่มอีก 1,602 คนต่อปี ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ (หรือ 16,018 คน ภายใน 10 ปี) เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนเภสัชกรในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภาครัฐจะมีเภสัชกรมาดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยและการใช้ยาให้ประชาชนในอัตรา 3.7 เภสัชกรต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์

ด้าน ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่าปัจจุบันจำนวนเภสัชกรโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ต้องดูแลผู้ป่วยในอัตรา 1 ต่อ 7,640 คน แต่ถ้ารวมภาคบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยมีเภสัชกร 1 ต่อ 5,649 คน โดย WHO กำหนดให้จำนวนเภสัชกรควรต้องดูแลผู้ป่วยในอัตรา 1 ต่อ 2,000 คน เท่านั้น ซึ่งภาระหน้าที่ของเภสัชกรโรงพยาบาลหลังจากจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามหมอสั่งแล้ว ยังมีหน้าที่ติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น การติดตามผลข้างเคียง การกินยาซ้ำซ้อน หรือการตีกันของยา เป็นต้น เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ เภสัชกรจึงมีงานการออกเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆจากการใช้ยา และช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาตามที่ให้ไปได้อย่างถูกต้อง

นอกจากคนไข้นอกที่ต้องดูแลแล้ว ปัจจุบันเภสัชกรยังมีบทบาทในการติดตามการใช้ยาของคนไข้ที่นอนในโรงพยาบาลด้วย จากภาระงานที่มากขึ้นนี้ส่งผลให้จำนวนเภสัชกรที่มีอยุ่ปัจจุบันไม่สามารถดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยจึงยังอาจไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงทั้งในเรื่องผลการรักษาจากการใช้ยา ผลข้างเคียง หรือความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาผิดพลาดได้

“ปัจจุบันจำนวนเภสัชกรในระบบมีอยู่ประมาณ 28,000 คน แต่จำนวนที่ควรจะมีคือ 47,000 คน จะเห็นว่าเภสัชกรยังขาดแคลนอยู่อีกมากหากจะต้องดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในกรอบระบบกระทรวงสาธารณสุข ตำแหน่งของเภสัชกรมีน้อยกว่าภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากในปัจจุบันเราสามารถผลิตเภสัชกรได้ปีละ 1,700 คน แต่รัฐนำไปใช้เพียง 350 คน แต่ในปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีตำแหน่งเภสัชกรเพิ่มให้ ดังนั้นเภสัชกรที่ผลิตได้จึงเข้าไปอยู่ในภาคเอกชนทั้งหมด ในขณะที่ระบบบริการหลักของประเทศคือระบบบริการภาครัฐ แม้ปัจจุบันจะเริ่มมีโครงการเชื่อมต่อระบบบริการระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา เพื่อส่งผู้ป่วยให้เภสัชกรร้านยาดูแลต่อ โดยเภสัชกรได้ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านในละแวกใกล้เคียงด้วย จำนวนเภสัชกรก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย เพราะในส่วนของเภสัชกรร้านยาก็ขาดแคลนเช่นกัน

โดยปัจจุบันร้านยาส่วนใหญ่มีเภสัชกรประจำเพียงบางเวลา ตามเวลาปฎิบัติงานที่แจ้งไว้ ตามกฎหมายร้านยาจะต้องมีเภสัชกรประจำร้านอย่างน้อย 1 คนเป็นเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนมีที่พึ่งด้านยาและได้รับการดูแลการใช้ยาอย่างทั่วถึง ร้านยาซึ่งมีอยู่มากกว่า 15,000 ร้านทั่วประเทศ ควรจะมีเภสัชกรเต็มเวลาไม่ต่ำกว่า 15,000 คน หรือเท่ากับจำนวนร้านยา เพื่อให้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านยาได้นานมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ตามเวลาที่ร้านยาเปิดทำการ”

บทบาทเภสัชกรภาครัฐที่เหมาะสมตามโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จะต้องมีความเชี่ยวชาญที่จะแก้ปัญหาได้ถูกต้องทันเวลาและมีจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม บทบาทของเภสัชกรในการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยจึงต้องครอบคลุม ถึงภาระงานต่างๆ ดังนี้

งานบริบาลเภสัชกรรม ซึ่งรวมทั้งการจ่ายยาพร้อมให้คำปรึกษา ดำเนินการติดตามแก้ปัญหาและดูแลความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้ป่วยเฉพาะโรค ได้แก่ โรคหัวใจ มะเร็ง ทารกแรกเกิด จิตเวช ไต โรคติดเชื้อ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ลดความสูญเสียจากการใช้ยาซ้ำซ้อน การแพ้ยา อาการไม่พึงประสงค์จากยาและภัยจากยาตีกันที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

งานผลิตและเตรียมยา ซึ่งรวมทั้งยาเคมีบำบัด สารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ตำรับยาพิเศษสำหรับเด็กหรือโรคที่มีความจำเพาะ การผลิตยาสมุนไพร

งานบริหารเวชภัณฑ์และงานพัฒนาระบบยา ทั้งในด้านการใช้ยาสมเหตุผล การประเมินการใช้ยา การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การให้บริการข้อมูลด้านยาแก่ผู้ป่วยและประชาชน การศึกษาวิจัยและสร้างนวัตกรรม และการวางระบบการประกันคุณภาพในองค์กรเพื่อให้การจัดการระบบยาเกิดผลที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

งานเภสัชกรรมปฐมภูมิ เภสัชกรต้องรับผิดชอบการกระจายและให้บริการยาและวัคซีนที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน พอเพียงและปลอดภัย ไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งงานคัดกรอง ติดตามดูแลและแก้ปัญหาการใช้ยา ลดความเสี่ยงจากพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน

งานคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านยาและสุขภาพ การสร้างเสริมศักยภาพของชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การแก้ไขปัญหาจากการบริโภค การคุ้มครองตนเองและชุมชน กำหนดแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงนโยบาย ทั้งในด้านระบบ กฎหมาย และการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ

งานสมุนไพร ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนา ผลิตยาขึ้นใช้ในโรงพยาบาล รวมทั้งการติดตามการใช้ การวิจัย และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน แพทย์และพยาบาล

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคุณภาพการดูแลการใช้ยาอย่างปลอดภัยสมเหตุผลของประชาชน สภาเภสัชกรรมและ เสนอแนวการแก้ปัญหาความขาดแคลนเภสัชกร แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

1.การแก้ปัญหาปัจจุบันสำหรับปีประมาณ พ.ศ. 2560 ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดอัตราตั้งใหม่ข้าราชการตำแหน่งเภสัชกร 316 อัตรา และ ใช้อัตราว่าง 34 อัตรา บรรจุเภสัชกร ลูกจ้าง พนักงานสาธารณสุข พนักงานของรัฐ ทั้งหมดของทุกกรม จำนวนไม่ตำกว่า 383 คน เป็นข้าราชการ

2.การแก้ปัญหาระยะยาว 10-20 ปี เรื่องการขาดแคลนกำลังคนเภสัชกรในของภาครัฐ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขวางแผน ดังต่อไปนี้

2.1 กรอบอัตรากำลังเภสัชกรโรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (รพศ./รพท./รพช./กรมอื่นๆ) ในปี พ.ศ. 2569 จำนวน 24,774 ตำแหน่ง และบรรจุเภสัชกรเพิ่มขึ้นปีละ 1,602 คน ในระยะ 10 ปี

2.2 กำหนดให้เภสัชกรต้องมีการศึกษาต่อยอด วุฒิบัตร หนังสืออนุมัติ ในสาขาเภสัชบำบัด คุ้มครองผู้บริโภค เละสมุนไพร จำนวน 2,000 คน (สองพันคน) ในระยะ 20 ปี

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 กันยายนของทุกปี เป็นวันเภสัชกรโลก ทุกๆ ปีจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงถึงบทบาทของเภสัชกรต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยมีรูปแบบและภาพรวมการดำเนินงานในแต่ละปีที่แตกต่างกันไป

ในปีนี้ สภาเภสัชกรรม ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จัดงานวันเภสัชกรโลก (World Pharmacist Day 2017) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รณรงค์เรื่อง เภสัชกรกับงานวิจัยสู่การใช้ยาอย่างปลอดภัยสมเหตุผลของประชาชน พร้อมจัดงานประชุมวิชาการหัวข้อ “From Research to Pharmaceutical Care” ในวันที่ 25 และ 27 กันยายน 2560 ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เภสัชกรผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ และส่งเสริมบทบาทของเภสัชกรในการบริบาลทางเภสัชกรรมหรือการดูแลการใช้ยา วัคซีนและสมุนไพรในผู้ป่วยให้ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากการใช้ยาซ้ำซ้อน และภัยจากยาตีกันที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สำหรับวันเภสัชกรโลก (World Pharmacist Day) ซึ่งกำเนิดขึ้นในปี 2009 จากสมาพันธ์เภสัชกรรมนานาชาติ หรือ International Pharmaceutical Federation (FIP) ในการประชุม FIP congress ณ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี