ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สะแกโพรงโมเดล” บุรีรัมย์ นำด่านครอบครัวจัดการความเสี่ยง เป็นรั้วแห่งความปลอดภัย ผลพึงพอใจเกิน 80 % ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.60 โรงแรมเทพนคร อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ – ในการประชุม “สานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์” เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เขต 9, เขต 10 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนการดำเนินงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานการประชุม, นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.), นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด, นายวิริยา ธรรมเรืองทอง นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย, นายแสวง บุญเกิดรัมย์ ผู้แทนสมาคมสื่อช่อสะอาด และ นายโปรย สมบัติ นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล

นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดบุรีรัมย์ ยึดการทำงานตามมาตรการ 5 เสาหลัก คือ 1.การจัดการความปลอดภัยทางถนน 2.ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย 3.ยานพาหนะปลอดภัย 4.ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และ 5.การตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ โดยจังหวัดบุรีรัมย์ได้นำมาตรการดังกล่าวมาบูรณการบริหารระบบความปลอดภัยตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอและท้องถิ่น เฝ้าระวังจุดเสี่ยงและแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำ ร่วมกับหน่วยงานอย่างใกล้ชิด ทำถนนให้ได้มาตรฐานเพื่อการสัญจรที่ปลอดภัย รวมทั้งเข้มด้านรถที่ใช้บนท้องถนนทุกชนิด หากไม่พร้อมไม่ถูกต้องตามระเบียบก็จะไม่อนุญาตให้ใช้บนท้องถนน ส่วนคนจะบังคับเข้มเรื่องกฎจราจร สนับสนุนให้ใช้มารการองค์กรปลุกจิตสำนึกความปลดภัยและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเป็นกลไกขับเคลื่อน ทั้งในสถาบันการศึกษา บริษัท หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ จะเข้มบังคับกฎหมาย โดยเริ่มจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุขก่อน จากนั้นจะติดตามประเมินผล เมื่อคนเสี่ยงน้อยลง ใช้รถอย่างระมัดระวัง เคารพกฎกติการ่วมกัน จะทำให้มีความปลอดภัย ลดเร็ว ลดเสี่ยง ลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ในที่สุด

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ (ขวา)

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สคอ.และเครือข่ายจะเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือ เพิ่มบทบาทและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสื่อมวลชน ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ตลอดจนผลักดันเครือข่ายให้ดำเนินงานเชื่อมประสานกลไกแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งครั้งนี้ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบจัดการความปลอดภัยทางถนน ที่นำกระบวนการทำงานที่เรียกว่าการเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนจากรณีศึกษา หรือ Road Traffic Injuries (RTI) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ส่งผ่านไปยังหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ มาเป็นกลไกขับเคลื่อนทำงาน โดยมีกรอบการทำงานที่มีระบบจัดการข้อมูล ความรู้ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เฝ้าระวัง ชี้เป้าและจัดการจุดเสี่ยง การสอบสวนสาเหตุบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งขับเคลื่อนงานแบบทีมสหสาขา ตลอดจนการรณรงค์ให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ ซึ่งพื้นที่สามารถขับเคลื่อนการทำงานแก้ไขปัญหา ลดความเสี่ยงและจัดการจุดเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

นางสาวปนัดดา วณิชชาพัชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบุลาว ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า สาเหตุอุบัติเหตุทางถนนของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จากดื่มแล้วขับและถนนไม่ปลอดภัย กลุ่มเสี่ยงสุดคือวัยรุ่นในหมู่บ้าน โดยการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตำบลสะแกโพรง ได้นำรูปแบบของกระบวนการ RTI กระทรวงสาธารณสุขมาเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนทำงาน ภายใต้ชื่อ “ด่านครอบครัวรั้วแห่งความปลอดภัย 3 ป. สะแกโพรงโมเดล” เพื่อให้คนในตำบลได้มีความรู้ด้านอุบัติเหตุและจราจร ทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ พิการ และเสียชีวิตทางถนน

ซึ่งการทำงานได้นำเรื่องด่านครอบครัว และด่านชุมชนมาควบคุมความเสี่ยงร่วมกับหลัก 3 ป. ได้แก่ 1.ป.ประสานงาน 2.ป.ประชาคม-ประชาสัมพันธ์ และ 3. ป.ปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยใช้เครือข่ายมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชน โดยมีการทำประชาคมจัดตั้ง “ด่านครอบครัว” เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงบนถนน เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับครอบครัว ซึ่งตำบลสะแกโพรงเป็นตำบลนำร่องและมีการบันทึกข้อตกลงขึ้นระหว่างหน่วยงาน ประกอบด้วยอำเภอเมืองบุรีรัมย์ สสอ.เมืองบุรีรัมย์ สถานีตำรวจภูธร อบต.สะแกโพรง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง 26 หมู่บ้าน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 - 17 เมษายน 2560 เป็นต้นมา

สำหรับมาตรการที่ใช้คือ มาตรการระดับตำบล 1. บุคคลในครอบครัว แสดงความห่วงใยคนในครอบครัว ว่ากล่าวตักเตือน โน้มน้าว และควบคุมไม่ให้คนในบ้าน มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้รถใช้ถนน 2.กรรมการหมู่บ้าน มีหน้าที่สอดส่อง ดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่มีประสบปัญหาคนในครอบครัวมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้รถใช้ถนน 3.หมู่บ้านมีธรรมนูญหมู่บ้านในการบริหารจัดการบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์

มาตรการระดับหมู่บ้าน 1.ด่านชุมชนสกัดคนเมา จะตักเตือนคนเมาที่ใช้รถใช้ถนน 2 ครั้งและครั้งที่ 3 โดยด่านชุมชนจะยึดพาหนะ พร้อมปรับเงิน 200 บาท และจะคืนพาหนะให้โดยมีผู้ปกครองมาลงชื่อรับพาหนะหลัง 7 วันอันตราย 2.ร้านค้าห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาและขายแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด มาตรการระดับครอบครัว เช่น ยึดกุญแจรถคนในครอบครัว ไม่ให้ออกไปนอกบ้านหากไม่พร้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลการทำงานด้วยมีนโยบายที่ชัดเจน มีภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง มีการตั้งด่านต่อเนื่องทั้งในและนอกเทศกาล ทำให้สามารถสกัดกั้นคนเมา สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงได้ โดยผลสำรวจความพึงพอใจด่านครอบครัว พบว่า ความเชื่อฟังคำกล่าวตักเตือนร้อยละ 80.15 เกิดความร่วมมือของครอบครัว ร้อยละ 86.71 และต้องการให้มีต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 95.12 ดังนั้นจึงส่งผลให้การทำงานในพื้นเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ จำนวนอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างต่อเนื่อง