ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ คิดค้นเครื่องมือค้นหาภาวะข้อไหล่ติดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม “วัดเองได้ ใครใช้ก็ได้ ทราบผลรวดเร็ว” ช่วยผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมทันเวลา ลดความพิการ อยู่ระหว่างพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น TAN scale ต่อยอดให้ประชาชนเข้าถึงง่าย

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์เปิดเผยว่า ภาวะข้อไหล่ติด หรือการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง พบประมาณร้อยละ 5 ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ภาวะข้อไหล่ติดจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 37 หลังผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านมในสัปดาห์แรก เนื่องจากอาการปวดบริเวณแผล การดึงรั้งของแผลทำให้ผู้ป่วย ไม่ยอมเคลื่อนไหว หรือบริหารข้อไหล่ส่งผลให้เกิดภาวะข้อไหล่ติดในภายหลัง กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเช่นการหวีผมใส่เสื้อผ้า หรือการเอื้อมหยิบสิ่งของในที่สูง เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาภาวะข้อไหล่ติดอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่ความพิการอย่างถาวร ส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยรวมถึงค่าใช้จ่ายและเวลาที่สูญเสียไปกับการรักษา

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้คิดค้น “นวัตกรรมเครื่องมือวัดข้อไหล่ด้วยตนเอง” (Thai Arthrometric Navigator Scale, TAN Scale) ด้วยหลักการ 3 ข้อคือ 1.วัดเองได้ 2.ใครใช้ก็ได้ 3.สามารถทราบผลทางคลินิกได้อย่างรวดเร็ว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งศัลยแพทย์นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่พยาบาล ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมบริการภาครัฐดีเด่นแห่งชาติจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยความร่วมมือทางการวิจัยด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติมุ่งพัฒนาต่อยอด TAN scale เข้าสู่ Mobile Application บนระบบโทรศัพท์มือถือ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้บริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของสังคมเมือง มุ่งเน้นการป้องกันการเกิดปัญหาข้อไหล่ติด และขยายผลสู่ประชากรกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านม กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งศีรษะและลำคอ กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดข้อไหล่ กลุ่มผู้ป่วยภาวะข้อไหล่ติด และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาเครื่องมือให้สามารถใช้งานได้ง่าย จะเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะข้อไหล่ติด ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเองก่อนเกิดภาวะข้อไหล่ติดเรื้อรัง ที่ยากแก่การรักษา ลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และการเดินทางมารับบริการ

นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินภาวะข้อไหล่ติดในผู้ป่วยก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด และติดตามเฝ้าระวังภาวะข้อไหล่ติดได้สูงถึง 7 เท่า ปัจจุบันสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้จัดทำคู่มือและส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปทดลองใช้ 40 แห่งทั่วประเทศการจัดการเชิงระบบเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สามารถช่วยเหลือตนเอง และลดการพึ่งพิงให้มากที่สุด จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้วางเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อดูแลประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป