คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประสบความสำเร็จแก้ไขปัญหาของชุมชน ทั้งเรื่อง สิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหาร โรคพยาธิใบไม้ในตับ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภออื่นๆ กำหนดจัดตั้งให้ครบทุกอำเภอภายในปีนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกอำเภอ
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบให้มี "คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ" (พชอ.) ขึ้นทุกอำเภอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกอำเภอ เน้นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน” โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน “ใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการ มี นายอำเภอ เป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอ เป็นเลขานุการ ประชาชน/องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น/หน่วยงานภาคเอกชนและตัวแทนภาครัฐ ร่วมเป็นคณะกรรมการ อำเภอละไม่เกิน 21 คน โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาตามสภาพของพื้นที่ เช่น โรคติดต่อ สุขาภิบาลอาหาร หาบเร่แผงลอย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ เด็ก อุบัติเหตุ ยาเสพติด และปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานใน 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับอำเภอ ที่อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมแก้ไขปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะที่มีมากและเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นำมาซึ่งโรคไข้เลือดออก ทางคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อ ทำความเข้าใจปัญหาของชุมชน และผู้นำในพื้นที่ ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกันว่าปัญหาขยะที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากคนในชุมชนที่มีมากถึง 7 ตันต่อวัน จึงแก้ปัญหาโดยส่งเสริมให้คนในชุมชนคัดแยกขยะ ขยะพิษ ขยะอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ มีการจัดตั้งธนาคารขยะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ผลจากการบริหารจัดการขยะ ทำให้จำนวนขยะลดลง โรคไข้เลือดออกลดลง
จากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ยังผลให้เกิดโครงการใหม่ คือ การรณรงค์ไม่บริโภคของดิบ “ส้มตำปลาร้าสุก” แก้ไขปัญหาเรื่องโรคพยาธิใบไม้ในตับของประชาชนในพื้นที่อำเภอขุนหาญ แต่เดิมที่นิยมบริโภคปลาร้าดิบ ทำให้พบผู้ป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ 93 ราย จากประชาชน 100 คน หลังจากที่มีหน่วยงานลงมาให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในชุมชน ทำให้ประชาชนในชุมชนหันมาบริโภคปลาร้าสุก แม้จะไม่อร่อย แต่ได้สุขภาพที่ดี ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ในตับ 7 ราย จากประชาชน 100 คน นับได้ว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอขุนหาญประสบความสำเร็จ เกิดผลสัมฤทธิ์ และเกิดการมีส่วนร่วมในการบูรณาการการดำเนินงานอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชิวิตระดับอำเภอ ที่อำเภอขุนหาญ จังหวัด ศรีสะเกษ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ใช้การสั่งการจากผู้บริหารลงมาอย่างเช่นที่ผ่านมา แต่เป็นการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากประชาชนในพื้นที่ ยังผลให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชิวิตระดับอำเภอ ให้ครบทุกอำเภอ และในเขตกรุงเทพมหานครอีก 50 เขต เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
- 86 views