ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สพฉ.แจง 2 ประเด็นกู้ชีพค้านประกาศหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ระบุค่าอบรม 4 พันบาท สพฉ.ไม่ได้เรียกเก็บและไม่ได้กำหนด แต่แหล่งฝึกอบรมดำเนินการเอง ส่วนการกำหนดสีรถฉุกเฉินเป็นสีเหลืองฉุกเฉินการแพทย์เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน เพราะเห็นได้เด่นชัดในที่แสงน้อย คนตาบอดสีก็มองเห็นได้ ไม่ได้ถูกกำหนดโดยบริษัทใด

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ขอบคุณภาพจาก PPTV)

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 Facebook สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669 เผยแพร่คำชี้แจงสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ต่อประเด็นการคัดค้านการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการออกประกาศของของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 ในประเด็นการกำหนดให้อาสาสมัครทุกคนต้องผ่านการอบรมอาสาสมัครฉุกเฉินเบื้องต้นเพื่อยกระดับเป็น EMR ระดับสูง

ประเด็นที่ 1 คัดค้านการเก็บเงินกับผู้อบรมจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากกลุ่มองค์กรมูลนิธิฯ ไม่มีรายได้ประจำแต่อย่างใด

ตอบ การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ ทาง สพฉ.ไม่ได้เป็นผู้เรียกเก็บ และไม่ได้เป็นผู้กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นการกำหนดค่าลงทะเบียนโดยแหล่งฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งของรัฐและเอกชน (เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการจัดการอบรมของแหล่งฝึกอบรมนั้นๆ เช่น ค่าวิทยากร ค่าเอกสาร ค่าอุปกรณ์การฝึกอบรม ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนค่าฝึกอบรมจากภาครัฐ อปท.ทำให้ผู้เข้าอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเป็นอาจมีการร่วมจ่าย (Co-pay) หรือผู้เรียนจ่ายเอง แล้วแต่กรณี
การจะเรียนฟรีทั้งหมดนั้นอาจไม่สามารถดำเนินการฝึกอบรมได้เนื่องจากงบประมาณอาจไม่เพียงพอ

ประเด็นที่ 2 การกำหนดว่ารถตู้ที่ใช้ต้องเหมือนกันทั่วประเทศ คือสีเลมอนมะนาว มีความจำเป็นหรือไม่ และบริษัทใดเป็นผู้จัดการ ซึ่งหน่วยงานต้นเรื่องสมควรชี้แจงให้สาธารณะรับทราบ

ตอบ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ.2560 ข้อ 9 ความในวรรคที่ 3 ระบุว่า “ให้ใช้สีเหลืองฉุกเฉินการแพทย์ (รหัสสี RAL 1016 Sulphur Yellow) เป็นสีหลักของตัวถังยานพาหนะทางบกดังกล่าว” แต่มิได้หมายความว่า รถพยาบาลฉุกเฉินทุกคันต้องเปลี่ยนเป็นสีดังกล่าว ให้บังคับใช้เฉพาะรถปฏิบัติการฉุกเฉินของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่จดขึ้นทะเบียนภายหลังประกาศนี้บังคับใช้เท่านั้น หากเป็นชุดปฏิบัติการฯ ที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่ก่อนแล้วไม่บังคับให้เปลี่ยนสีรถ ตามข้อความของประกาศฯ ข้อ 9 วรรคที่ 5 ว่า “สีหลักของตัวถังยานพาหนะทางบกตามวรรคสาม ไม่ให้นำมาบังคับใช้กับยานพาหนะของชุดปฏิบัติการซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามระเบียบคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ว่าด้วยเรื่องการรับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ. 2552 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้” ซึ่งการกำหนดสีนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ได้ถูกกำหนดโดยบริษัทใด
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้จากประกาศ (ดู ที่นี่)

ทั้งนี้สีเหลืองฉุกเฉินการแพทย์เป็นสีซึ่งสามารถเห็นได้เด่นชัดในที่แสงน้อย และสามารถเห็นได้ในผู้ที่ตาบอดสี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติการในรถฉุกเฉิน รวมถึงทำให้ประชาชนสามารถแยกประเภทรถปฏิบัติการฉุกเฉินจากรถประเภทอื่นได้อย่างชัดเจน

เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมออัจฉริยะ’ แจงประกาศ สพฉ.หน่วยกู้ชีพเดิมยังทำงานต่อไปได้

เครือข่ายกู้ชีพลั่นเตรียมฟ้องศาลเบรกประกาศ สพฉ.