ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอเลี้ยบชี้กระแสดราม่า “ตูน บอดี้สแลม” วิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาลอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้เกิดการพูดคุยกันมากในช่วงนี้ ย้ำโรงพยาบาลขาดทุนเกิดจากหลายสาเหตุ แค่พูดว่าโรงพยาบาลขาดทุนมันง่ายแต่ไม่มีใครลงรายละเอียดอย่างจริงจังว่าสาเหตุจริงๆ คืออะไร

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

กลุ่มอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “งบ’สาธารณสุข กับเรื่องที่คุณควรรู้” ร่วมหาคำตอบว่าทำไมพี่ตูนต้องวิ่งไปแตะขอบฟ้าเพื่อหาตังค์จนเอ็นเข่าแทบเสื่อม โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้ร่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมเสวนา เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตูนออกมาวิ่ง 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2559 เพื่อหาเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และครั้งที่ 2 ปี 2560 วิ่งเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่ง ซึ่งน่าสังเกตว่าตอนวิ่งปี 2559 ไม่มีกระแสดราม่า แต่การวิ่งในครั้งนี้กลับมีกระแส ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นการวิ่งในขณะที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสงสัยว่าอาจมีการล้มหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำมา 15 ปี ถึงทำให้เกิดการพูดคุยกันมากในช่วงนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องระบบ แต่เป็นความขัดแย้งของความคิด 2 แนวทางในระบบสาธารณสุขไทยที่มีมา 40-50 ปี

“หลายยุคของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา แกว่งไปแกว่งมา ยุคไหนปลัดกระทรวงสนใจเรื่องงานสาธารณสุข ต้องการส่งเสริมการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ พยายามสร้างโรงพยาบาลทุกอำเภอ อันนี้ก็จะเป็นยุคเฟื่องฟูของสาธารณสุขมูลฐาน แต่บางยุคปลัดกระทรวงสนใจความเป็นเลิศทางวิชาการ ยุคนั้นก็จะไม่สนใจการป้องกันโรค ไม่สนใจสาธารณสุขมูลฐาน แต่ตัดสินใจว่าทำอย่างไรถึงจะพัฒนาโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเมือง เพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มเทคโนโลยีที่ทันสมัย นี่คือความคิด 2 แบบที่เกิดในกระทรวงสาธารณสุขนานแล้ว แม้แต่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มาจากรากฐานความคิด 2 แบบนี้แหละ แล้วก็อาจมีบางส่วนที่คิดว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการบั่นทอนความก้าวหน้าทางการแพทย์” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การพูดว่าโรงพยาบาลขาดทุนเป็นเรื่องง่ายที่จะพูด แต่ไม่มีใครลงรายละเอียดอย่างจริงจังว่าขาดทุนจริงหรือไม่ ขาดทุนเพราะอะไร เพราะประเด็นการขาดทุนเกิดขึ้นได้ทั้ง 3 อย่างคือ 1.ทรัพยากรมากเกินไปแล้วไม่ยอมกระจายออก 2.เป็นพื้นที่พิเศษที่ต้องดูแล และ 3.ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร

นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างในประเด็นการกระจายทรัพยากรว่าเป็นปัญหาการจัดสรรเงินงบประมาณในอดีตที่จัดสรรตามที่โรงพยาบาลเสนอขอ แต่ไม่ได้เสนอโดยดูว่าจะต้องดูแลประชาชนเท่าไหร่ ทำให้การพัฒนาไม่เสมอภาค ผิดรูปผิดร่างมานาน เช่น ปี 2544 ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ต้องดูแลประชากร 2 แสนคน มีเตียง 60 เตียง มีแพทย์ 5-6 คน ได้งบประมาณไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่ก็มีบางจังหวัดที่มีประชากร 2 แสนคนเท่า อ.กันทรลักษ์ แต่มีทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอรวมกัน 4-5 แห่ง มีเตียงรวมกันเกือบ 500 เตียง มีแพทย์รวมกันกว่า 100 คน ได้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท

“เกิดอะไรขึ้น คน 2 แสนคนเท่ากัน แต่จำนวนเตียงที่รองรับไม่เท่ากัน หมอมีไม่เท่ากัน งบประมาณไม่เท่ากันก็เพราะเป็นปัญหาจากการเสนอของบประมาณในอดีต พอมีการเปลี่ยนวิธีจัดงบประมาณมาให้ตามจำนวนคน จังหวัดที่เคยได้มากกว่านี้ มีหมอนับร้อยคน ก็จะได้น้อยลง มันก็ต้องมีการกระจายทรัพยากรออกไป ซึ่งตอนเขียนกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เราต้องการเกลี่ยทรัพยากร ที่ไหนหมอเยอะเกินไปก็ควรย้ายไปอยู่ในที่ที่ขาดแคลน แต่ผ่านมา 15 ปี มันไม่เป็นอย่างนั้น ปัญหาขาดทุน มันก็อาจเกิดจากทรัพยากรมากระจุกตัว ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเยอะ รายได้ที่มาจากเงินรายหัวอาจไม่พอค่าใช้จ่าย” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

สำหรับสาเหตุต่อมา อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ตั้งโรงพยาบาล เช่น อยู่ห่างไกลมาก ประชากรน้อย แต่เป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาล ทำให้เกิดการขาดทุน ซึ่งกรณีแบบนี้ก็จะเป็นลักษณะพิเศษซึ่งมีไม่กี่แห่ง

และสาเหตุสุดท้ายคือประสิทธิภาพการบริหารของโรงพยาบาลเอง เพราะ สปสช. จ่ายเงินผู้ป่วยในด้วยระบบ DRG ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งระบบ โรงพยาบาลไหนทำดีก็มีกำไร โรงพยาบาลไหนไม่มีประสิทธิภาพก็ขาดทุน

“ฉะนั้นต้องมานั่งไล่ดูทุกแห่งว่าที่ขาดทุน ขาดทุนเพราะอะไร คือพูดว่าขาดทุนๆ มันพูดง่าย แต่ต้องไปดูเพราะขาดทุนเพราะอะไร” นพ.สุรพงษ์ กล่าว