ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มภาคประชาสังคมด้านสิทธิบัตรและการเข้าถึงยาหวั่นกรมทรัพย์สินทางปัญญาและ อย.แก้ พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.สิทธิบัตรเอาใจต่างชาติ แลกปลดไทยจากบัญชีดำทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

กลุ่มภาคประชาสังคมด้านสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา ยังยืนยันว่าต้องจับตาและตรวจสอบการแก้ไข พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.สิทธิบัตรอย่างใกล้ชิด แย้งหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลให้ข้อมูลต่อสาธารณะไม่ครบรอบด้าน และไม่ได้นำข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติมาใช้ เพื่อขจัดการผูกขาดผ่านระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เป็นธรรมและยาราคาแพง ขอให้สังคมช่วยติดตามและตรวจสอบว่า การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่ออุตสาหกรรมยาข้ามชาติ

จากกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ของหน่วยงานพร้อมกันเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2560 ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่สหรัฐฯ ถอดประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ (Priority Watch List) เป็นเพราะการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไข และการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรเพื่อให้เป็นไปตามวรรค 6 ของปฏิญญาโดฮาฯ และกำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาและการยื่นเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้แต่ข้อมูลด้านดีของร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับแก้ไข แต่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาอื่นที่จะก่อความเสียหายต่อการเข้าถึงยา โดยเฉพาะในเรื่องการใช้สิทธิโดยรัฐหรือมาตรการซีแอล การแก้ไขเนื้อหาในส่วนนี้ถือว่าถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่รายงานการเข้าถึงยาโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงขององค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้ ประเทศต่างๆ นำมาตรการซีแอลมาใช้อย่างกว้างขวางและโดยสะดวกยิ่งขึ้น ถึงขนาดมีข้อแนะนำด้วยว่าให้ประเทศที่ถูกขัดขวางหรือกดดันไม่ให้นำมาตรการซีแอลมาใช้ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกได้”

นายเฉลิมศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร โดยทำให้การนำมาตรการซีแอลมาใช้มีอุปสรรคและเป็นไปได้ยากมากขึ้น เช่น การลดหน่วยงานรัฐที่จะประกาศใช้ซีแอลลงเหลือแค่กระทรวง จากเดิมที่มีทบวงและกรม แทนที่จะแก้ไขให้มีหน่วยของรัฐอื่นๆ ประกาศใช้ซีแอลได้มากขึ้น และการที่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิบัตรร้องต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งประกาศใช้ซีแอลได้ ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดไว้ และเป็นข้อกฎหมายที่เข้มงวดเกินว่าข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาหรือ “ทริปส์” ขององค์การการค้าโลก และขัดแย้งกับปฏิญญาสากลโดฮาว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญากับการสาธารณสุข

เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวอีกว่า “การทำให้นำมาตรการซีแอลมาใช้ได้ยากลำบากเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการมาตลอด สหรัฐฯ ลดสถานะไทยอยู่ในบัญชีดำด้านทรัพย์สินทางปัญญาทันทีและต่อเนื่องมา 10 ปี เพราะไทยประกาศใช้ซีแอลในปี 2549 – 2550”

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรแก้ไข พ.ร.บ.ให้ขยายระยะเวลาการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรออกไปตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ ไม่ใช่คงเดิมไว้เพียง 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา การกำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาและการยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่กำหนดให้ผู้ขึ้นทะเบียนยากับ อย. ต้องแจ้งโครงสร้างราคาถูกตัดทิ้งไป ทั้งๆ ที่ประเทศไม่มีมาตรการใดๆ ตรวจสอบหรือควบคุมราคายาเลย สิ่งนี้จะเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงยาอย่างมาก โดยเฉพาะยาราคาแพงและติดสิทธิบัตร ในระบบหลักประกันสุขภาพ ยาที่มีสิทธิบัตรหลายตัวไม่สามารถต่อรองราคาให้ลดลงได้มากพอ หรือไม่ถูกกำหนดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

“อย.ละเลยไม่นำข้อแนะนำในรายงานการเข้าถึงยาของคณะผู้ทรงฯ ขององค์การสหประชาชาติมาปรับใช้ ซึ่งระบุให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนยาต้องแจ้งโครงสร้างราคายาให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล ส่วนกรมการค้าภายใน ก็ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน โดยไม่นำ พ.ร.บ.ควบคุมราคาสินค้าและบริการมาใช้อย่างเต็มที่ แม้ว่ายาจะถูกกำหนดเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคา สิ่งที่กรมฯ ทำคือให้ระบุราคายาไว้ที่บรรจุภัณฑ์เท่านั้น”

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงภาคประชาชน (FTA Watch) แสดงความไม่เห็นด้วยต่อข่าวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะให้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรคั่งค้างจำนวนมาก และการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปยังไม่ควรรื้อฟื้นและดำเนินการในช่วงนี้

“แค่นับตั้งแต่มีคู่มือตรวจสอบคำขอฯ สิทธิบัตรยามา 5 ปี เรายังพบว่ามีคำขอฯ ที่ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น ถ้าให้มีการเร่งพิจารณาฯ ตาม ม.44 จะเป็นการปล่อยผีสิทธิบัตรยา ทำให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นอีก”

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวเสริมว่า “สหภาพยุโรปไม่ควรกระทำตัวแบบปากว่าตาขยิบและกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่ควรฉวยโอกาสในช่วงที่ประเทศไทยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เปิดการเจรจาเอฟทีเอกับไทยอีกครั้งในขณะนี้”