ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จับตายุค “เชื้อดื้อยา” หมดทางรักษา – คุกคามถึง คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เดินหน้าแผนชาติ 60-64 สวรส.ร่วมหนุนวิจัย ลดใช้ยา ลดป่วย-ตาย พร้อมพัฒนาระบบ

เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ คือ การที่เชื้อแบคทีเรียที่เคยไวต่อยาปฏิชีวนะมาก่อนเกิดการกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา โดยเมื่อเชื้อดังกล่าวสัมผัสกับยาปฏิชีวนะแล้ว ยาไม่สามารถยับยั้งหรือทำลายเชื้อแบคทีเรียนั้นได้เหมือนเดิม ทำให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะทำได้ยาก ต้องใช้ยาร่วมกันหลายขนาน เกิดค่าใช้จ่ายสูง เกิดพิษและผลข้างเคียงมาก โดยที่การค้นคว้าวิจัยยาปฏิชีวนะตัวใหม่เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยานั้นไม่เพียงพอและทันต่อความต้องการ ข้อมูลจากรายงานเรื่อง The Review on Antimicrobial Resistance (AMR) ปี 2557 ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ได้คร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปีสูงถึง 7 แสนคน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน พ.ศ.2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจจะสูงถึง 10 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท

จากเวทีประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย “ประเทศไทยปักหมุด...หยุดเชื้อดื้อยา” เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ที่ ร.ร.มิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ มีการรายงานสถานการณ์โลกว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ โดย นพ.ริชาร์ด บราวน์ จากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย หนึ่งในผู้แทนจากหน่วยงานระดับโลกที่มาร่วมนำเสนอปัญหาเชื้อดื้อยาในระดับมหภาคชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามการแพทย์สมัยใหม่ เนื่องจากเชื้อโรคมีความต้านทานยาปฏิชีวนะสูง รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อดื้อยายังไม่ดีพอ การพบการกระจายของเชื้อดื้อยาในสัตว์จากการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนการสะสมปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดังนั้นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพจึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในคน แต่ยังมีผลกระทบเชื่อมโยงกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย

ในประเทศไทยวิกฤตปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพใน 3 วงจรของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมนั้น พญ.มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ (Post-antibiotic era) หรือยุคที่ยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากเชื้อโรคมีการดื้อยาเพิ่มขึ้น ขณะที่ยาต้านจุลชีพกลับมีจำกัด ส่งผลให้การรักษาโรคเรื้อรังหลายชนิดที่ต้องใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ เช่น วัณโรค การติดเชื้อในกระแสเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด มีความยากลำบากมากขึ้น

ด้าน ดร.วาลิกา เศวตโยธิน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) สะท้อนวิกฤตเสี่ยงเชื้อดื้อยาในภาคสิ่งแวดล้อมว่า จากการศึกษาเรื่องการปนเปื้อนของสารกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาในแม่น้ำบางปะกง ปี พ.ศ.2557-2559 โดยศูนย์วิจัยและอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ตรวจวัดคุณภาพน้ำใน 25 แหล่งน้ำ พบสารปนเปื้อนในแม่น้ำจากผลิตภัณฑ์ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด ได้แก่ กลุ่มยาไซโปรฟลอกซาซิน นอร์ฟลอกซาซิน และเททราซัยคลีน โดยปนเปื้อนมาจากน้ำเสียในชุมชน โรงพยาบาล ฟาร์มเลี้ยงหมู แม้ว่าผลการศึกษายังไม่อาจบอกได้ว่าความเข้มข้นของสารจากยาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนในน้ำนั้นจะส่งผลทางสุขภาพมากน้อยเพียงใด สะท้อนว่าถ้าเมืองไทยยังขาดการจัดการน้ำทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นสาเหตุทำให้มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะลงสู่แม่น้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม/สิ่งมีชีวิตในน้ำ และคนใช้น้ำตามมา

ส่วนในภาคปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ คุณภาพยา อาหารสัตว์และวัคซีนเพื่อให้สัตว์ปลอดโรค ในกระบวนการควบคุม ป้องกันเชื้อดื้อยา และสารตกค้าง ยังเป็นประเด็นสำคัญของไทยที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นการเฉพาะ ทั้งในเรื่องการดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพยาปฏิชีวนะที่จำหน่ายในท้องตลาด เช่น ยาเร่งการเจริญเติบโตสัตว์ทุกชนิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคและการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทย

ภญ.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะมีการเฝ้าระวัง ควบคุมปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ก็ยังพบปัญหาในเชิงระบบ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ประเทศไทยไม่มีนโยบายระดับประเทศ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรับผิดชอบด้านสาธารณสุข ยา ปศุสัตว์ เกษตร ประมง ห้องปฏิบัติการ ทำหน้าที่ในลักษณะต่างคนต่างทำ 2.การขาดความตระหนักรู้ ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของปัญหาหรือไม่รู้จักเชื้อดื้อยาหรือยาปฏิชีวนะว่าคืออะไร 3.การวิจัยระบบติดตามและประเมินผล (M&E) ที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนอย่างเพียงพอ ดังนั้นการตั้งคำถามวิจัย เช่น ปัญหาการใช้ยาต้านจุลชีพในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยปัจจุบันมีอัตราเท่าไหร่ หรือมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจำนวนมากน้อยเพียงใดจึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการลดอัตราการติดเชื้อดื้อยาต่อไป

จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2559 มี 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของเชื้อดื้อยา 2.เร่งรัดออกประกาศให้ยาต้านจุลชีพบางรายการเป็นยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์และมีระบบควบคุมการกระจายยา 3.จัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน 4.ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการเลี้ยงสัตว์ ประมง และในพืช 5.บูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และ 6.พัฒนาระบบติดตามประเมินผลในภาพรวม

สำหรับเวทีประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาฯ ได้มี 25 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนฯ โดยได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการดื้อยา โดยมีสาระสำคัญ เช่น การร่วมทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การพัฒนาระบบและกลไกกำกับติดตามการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพต่อเนื่อง ทั้งนี้การสร้างองค์ความรู้ด้วยการวิจัยนับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกกรรมการนโยบายการดื้อต้านจุลชีพแห่งชาติ ได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ สวรส. ปี พ.ศ.2560-2564 มีเป้าหมายและการดำเนินงานที่ชัดเจน ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในระบบสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาโจทย์วิจัยสำคัญเพื่อลดช่องว่างของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาต้านจุลชีพ

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ที่มีการวางเป้าหมายให้เกิดผลลัพธ์ 5 ประการภายในปี พ.ศ. 2564 คือ 1.ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 2.ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ ร้อยละ 20 3.ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ ร้อยละ 30 4.ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ 5.ประเทศไทยมีระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ทั้งหมดจึงเป็นความท้าทายการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องมีการเดินหน้าการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนตามแผนที่วางไว้