ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดแอป RDU รู้เรื่องยา ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผล พร้อมนำร่องติด QR code ซองยา ให้ผู้ป่วยรู้ข้อมูลยา คำแนะนำใช้ยา ผลข้างเคียงการใช้ยา การเก็บยาที่ถูกต้อง พร้อมบันทึกประวัติการใช้ยา จะเริ่มจาก รพ.ร.ร.แพทย์ 7 แห่ง และ รพ.สังกัด สธ. 11 แห่งใน ม.ค.61 ก่อนขยายเพิ่ม 32 จังหวัดใน ก.พ.61 และครบทุกจังหวัดสิ้นปี 61

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าว “สธ.มอบของขวัญปีใหม่ 2561 สร้างสุข สร้างความปลอดภัยทั่วไทย” ถึงการส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างปลอดภัยและสมเหตุผลว่า ได้ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีดิจิตัลทางแอปพลิเคชัน “RDU รู้เรื่องยา” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (Uhosnet) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และภาคีสุขภาพ พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อเข้าถึงข้อมูลยาแผนปัจจุบัน ให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสม ผู้รับการรักษาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลยาที่ตนเองใช้

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การพัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุขภาครัฐมีความทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลบนระบบ GCloud หรือบริการคลาวด์ภาครัฐที่มีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยระดับสากล เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ สนับสนุนให้ประชาชนลดการซ้ำซ้อนการใช้ยารักษาโรค สามารถใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลด้วย Mobile Application "RDU รู้เรื่องยา"

โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พร้อมให้การสนับสนุนโครงการ ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและจะเป็นการรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หากเราสามารถกระจายความรู้เรื่องยาที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนในวงกว้างได้มากเท่าไร จะช่วยให้มีผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมให้คนไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด และจากความร่วมมือที่หลากหลายองค์กรนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งเดียวทางด้านสาธารณสุขของไทย เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมสู่โครงการ Health Tech ในมิติอื่นๆ ต่อไป

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่าย Uhosnet กล่าวว่า แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา จะช่วยให้ประชาชนได้รับข่าวสารเรื่องยาที่ถูกต้อง โดยความร่วมมือของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล และ สสส.โดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เป็นสร้างความรอบรู้ด้านยาและสุขภาพให้แก่ประชาชน ด้วยข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการกลั่นกรองทางวิชาการแล้ว และมี Clip video ให้คำแนะนำการใช้ยา ในเมนู “สาระยาน่ารู้” เช่น การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ การเก็บรักษายาให้ถูกวิธี เป็นต้น พร้อมค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาใกล้ตัวได้

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยเมื่อสแกน QR code บนซองยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล จะได้รับข้อมูลยาที่ควรรู้ เช่น ข้อบ่งใช้ คำแนะนำในการใช้ยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ข้อควรระวัง การเก็บยาที่ถูกต้อง เป็นต้น และสามารถบันทึกประวัติการใช้ยาของตนเอง เพื่อใช้ในการรับยาครั้งต่อไป หรือไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ

ดาวน์โหลดเวอร์ชัน android ใน Play Store โดยพิมพ์คำว่า "RDU รู้เรื่องยา" สำหรับ IOS คาดว่าพร้อมบริการกลางเดือนมกราคม 2561 ในระยะต่อไปจะพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้มีระบบเตือน หากพบว่ายาของผู้ป่วยซ้ำซ้อน หรือมีปัญหายาตีกัน อาจเกิดอาการข้างเคียง หรือได้รับยาที่เคยมีประวัติแพ้มาก่อน เป็นต้น เริ่มให้บริการ QR code ในโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 7 แห่ง ในเดือนมกราคม 2561

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2561 จะเริ่มให้บริการ QR code ใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11 แห่ง จะขยายบริการเพิ่ม 32 จังหวัดในเดือนกุมภาพันธ์ และครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปี 2561 พร้อมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยแพร่แอปพลิเคชั่นนี้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีสมาร์ทโฟน ประมาณ 300,000 คน เพื่อให้นำข้อมูลความรู้ และแอปพลิเคชั่นเผยแพร่แก่ประชาชนต่อไป

ด้าน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา โดยสนับสนุนข้อมูลยาสำหรับประชาชน ที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นไปตามแนวทางสากล ซึ่งเป็นข้อมูลยาที่ผ่านการรับรองจากการขึ้นทะเบียนยา และจะขยายการใช้แอปพลิเคชันนี้ไปยังร้านยาต่อไป นอกจากนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อย.ยังได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ 5 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ และพยาบาล การพัฒนาร้านยาให้มีการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และส่งเสริมการใช้ยาปลอดภัยในชุมชน