ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” ห่วงข้อแนะนำเงินบริจาคโครงการก้าวคนละก้าว ใช้ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ชี้ผิดวัตถุประสงค์รับบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อ 11 รพ. หวั่นกระทบต่อศรัทธาโครงการและบุคลากรสาธารณสุข พร้อมระบุงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รัฐจัดสรรน้อยเป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นคนละประเด็น

จากกรณีที่มีข้อเสนอแนะให้นำเงินบริจาคโครงการก้าวคนละก้าว จากการวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม เพื่อมอบให้กับ 11 โรงพยาบาล มาใช้สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จะให้ผลคุ้มค่ากว่านำไปลงทุนด้านการรักษาซ่อมแซมสุขภาพ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามหลักการคงต้องเปรียบเทียบว่าระหว่างการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้นคุ้มค่ามากกว่าการรักษามากน้อยแค่ไหน ซึ่งการวัดผลยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก เพราะการสร้างเสริมสุขภาพเป็นการหวังผลระยะยาว ขณะที่การรักษามีตัวชี้วัดคือ ผู้ป่วยหายป่วยหรือมีอาการดีขึ้นหรือไม่ ได้บริการตามที่ต้องการหรือไม่ แต่จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ส่วนตัวทำให้รู้สึกกังวลและอยากชี้ว่า เงินบริจาคที่ได้มาจากการวิ่งของคุณตูน มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการระดมทุนให้กับ 11 โรงพยาบาลเพื่อช่วยเรื่องเครื่องมือแพทย์ ทั้งเป็นโครงการเพื่อสังคมที่เปิดรับบริจาคสาธารณะโดยมีวัตถุประสงค์หลัก จึงควรที่จะรักษาจุดยืนที่ตั้งไว้ ไม่ควรเบี่ยงเบนการใช้เงินบริจาคที่ได้ในภายหลัง โดยใช้เหตุผลอื่นมากล่าวอ้าง เพราะจะทำให้เกิดความแคลงใจต่อศรัทธรา ทั้งกับโครงการก้าวคนละก้าวและบุคลากรในระบบสุขภาพได้ เป็นสิ่งที่ต้องระวังและคำนึงถึง

ทั้งนี้แม้ว่าข้อมูลการจัดสรรงบประมาณส่งเสริมป้องกันโรคโดยรัฐจะเป็นข้อเท็จจริง แต่เรื่องนี้ต้องย้ำว่าเป็นคนละประเด็นกัน และเมื่อดูงบลงทุนที่รัฐจัดสรรให้กับระบบก็ไม่เพียงพอในการกระจายให้กับทุกโรงพยาบาล ซึ่งเครืองมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญของการให้บริการ ดังนั้นสัจธรรมที่ต้องยอมรับในระบบสุขภาพคือ ทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบวันนี้ไม่เพียงพอจริงๆ จำเป็นที่ต้องหาทรัพยากรภายนอกมาช่วยพัฒนาระบบ ซึ่งโครงการก้าวคนละก้าวเป็นโครงการหนึ่ง

“ขณะนี้มีการจุดกระแสเพื่อนำเงินบริจาคไปใช้ในด้านอื่นซึ่งได้เคยคาดการณ์ไว้ ผมจึงต้องกระตุกเตือน ไม่เช่นนั้นอาจมีการนำเงินบริจาคนี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่เป็นเป้าของการขอรับบริจาคได้ และประชาชนผู้ร่วมบริจาคอาจเกิดความคลางแคลงใจ ดังนั้นเงินบริจาคที่ได้ควรให้ดำเนินไปตามเป้าประสงค์ตามที่โครงการประกาศไว้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า”

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า ขณะที่ 11 โรงพยาบาลที่รับมอบเงินบริจาคโครงการนี้ ต้องมีธรรมาภิบาลในการนำเงินที่ได้ไปใช้อย่างเหมาะสม โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือต้องตอบสนองต่อปัญหาของโรงพยาบาลในการดูแลและรักษาประชาชนในพื้นที่นั้น เช่น การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อรักษาโรคที่พบบ่อยหรือเป็นปัญหาของคนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เน้นความคุ้มค่า และมีราคาเหมาะสม เรียกว่าเป็นการใช้เงินบริจาคอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้อาจเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการเงินบริจาค เพื่อเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

ต่อข้อซักถามว่า จากกระแสการวิ่งของตูน บอดี้สแลม ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขาดแคลนในระบบสุขภาพควรมีการต่อยอดอย่างไร ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ถึงแม้โครงการก้าวคนละก้าววันนี้จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่บทเรียนที่ได้ผู้บริหารประเทศควรตระหนักว่า ทรัพยากรในระบบสุขภาพในวันนี้ยังมีไม่เพียงพอที่จะดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานอย่างเหมาะสมได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรสู่ระบบสุขภาพเพิ่มขึ้น อาจมาจากกลไกทางการเงินของรัฐบาลเอง การเปิดระดมทุนจากภายนอก รวมถึงการปลดล๊อคกฎหมายที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำรายได้เพิ่มได้ เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคกลาง ซึ่งเคยจัดกิจกรรมบูรณาการกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยใช้เตียงว่างเพื่อบริการแพทย์แผนไทย แต่สุดท้ายถูกหน่วยงานตรวจสอบทักท้วงว่าไม่สามารถทำได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนและเปิดกว้างในแนวทางต่างๆ เพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรสู่ระบบสุขภาพ เน้นขีดเส้นใต้โดยคำนึงถึงผลประโยชนส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทายของรัฐบาล