ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจร ช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินรอดชีวิต ประชาชนมั่นใจเรียกใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 เฉลี่ย 3,500 รายต่อเดือน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่ ว่า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่เร่งรัดให้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจากโรคฉุกเฉินทั่วไป และบาดเจ็บฉุกเฉิน ตอบสนองนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) โดยใช้การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS คุณภาพ) และห้องฉุกเฉินคุณภาพ (ER คุณภาพ)

โดยที่ จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้ง รพ.นครพิงค์ และโรงพยาบาลชุมชน 23 แห่ง ได้พัฒนาระบบ EMS คุณภาพ เพิ่มความครอบคลุมของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินหรือหน่วยกู้ชีพ และพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน สามารถดูแลและนำส่งผู้ป่วยไปยังห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินจำนวน 215 หน่วย ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านหมายเลข 1669 ในปี 2560 มีประชาชนใช้บริการ ผ่านสายด่วน 1669 (ศูนย์กู้ชีพเวียงพิงค์) เฉลี่ย 3,500 รายต่อเดือน หน่วยกู้ชีพเข้าถึงผู้ป่วยวิกฤติ ณ จุดเกิดเหตุภายใน 8 นาที ร้อยละ 73 ผู้ป่วยได้รับบริการ ณ จุดเกิดเหตุอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งการดูแลทางเดินหายใจ การห้ามเลือด และการดามกระดูก ร้อยละ 97

นอกจากนี้ ได้พัฒนาให้ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วย โดยจัดให้มีแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบคัดแยกผู้ป่วยมาตรฐานเดียวกันทุกโรงพยาบาล ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจะได้รับการตรวจรักษาก่อนตามลำดับความเร่งด่วน มีระบบช่องทางด่วน (Fast Track) ในกลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นต้น พร้อมระบบส่งต่อที่รวดเร็ว หากต้องรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ส่วนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สูงที่มีการเดินทางลำบากจะมีระบบการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทางอากาศยานด้วยความร่วมมือของกองทัพ ภาคเอกชนอีกด้วย

ในรอบ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 โรงพยาบาลนครพิงค์ มีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินมาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินรวม 3,037 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นก่อนถึงโรงพยาบาล 23 รายได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพจนมีชีวิตรอด 8ราย คิดเป็นร้อยละ 36 ส่วนผู้ป่วยวิกฤตที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมีอัตราการเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงเพียงร้อยละ 1.4