ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จรุง เมืองชนะ

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อโรต้าสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เชื้อไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงที่ทำให้เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 500,000 รายต่อปี การติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถติดซ้ำได้หลายครั้ง โดยการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง อาเจียน ถ่ายเหลว และอาการต่างๆ จะค่อยๆ ลดลง ในการติดเชื้อครั้งต่อๆไป โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี เด็กเล็กที่ท้องเสียจากเชื้อโรต้ามักเป็นการติดเชื้อครั้งแรก จึงมักมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ที่อาการมักไม่รุนแรง เนื่องจากเคยติดเชื้อมาก่อนและมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้ว แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกาย เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคเรื้อรัง กินยากดภูมิต้านทาน ก็อาจมีความรุนแรงได้

เชื้อไวรัสโรต้าสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคจะขับถ่ายเชื้อไวรัสโรต้าออกมาในอุจจาระปริมาณมาก ในขณะที่เชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้แล้ว อีกทั้งเชื้อไวรัสโรต้ายังสามารถคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมง ดังนั้นถึงแม้จะมีสุขอนามัยที่ดีก็ยังติดเชื้อนี้ได้ ปัญหาท้องเสียจากไวรัสโรต้าจึงเกิดได้เสมอในทุกเศรษฐานะ

จากข้อมูลของประเทศไทยพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง และมีอาการรุนแรง ถ่ายเหลวอาเจียนอย่างหนัก จนเกิดภาวะขาดน้ำและต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า เมื่อลูกป่วย พ่อแม่มีความกังวลต้องลางานมาดูแล ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา แล้วอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านพัฒนาการและการเติบโตของเด็กด้วย

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ กล่าวต่อว่า แม้ไวรัสโรต้าจะร้ายแรง แต่ปัจจุบันก็มีวัคซีนที่ป้องกันอันตรายจากไวรัสชนิดนี้ได้ การให้เด็กเล็กได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าจึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากโรต้ารุนแรง ซึ่งป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 95

และตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 องค์การอนามัยโลกก็ได้ออกคำแนะนำต่อประเทศที่มีการเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า ให้มีการบรรจุวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้บรรจุวัคซีนชนิดนี้ไว้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและมีผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายแล้ว

สำหรับประเทศไทย คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้ประชุมพิจารณาความเหมาะสมต่อการนำวัคซีนชนิดนี้มาใช้ในเด็กกลุ่มเป้าหมาย และมีมติเห็นชอบให้นำวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้ามาบรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ รวมทั้งได้มีการจัดทำ “โครงการนำร่องให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า”แล้วที่ จ.สุโขทัย ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 พบว่า วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากโรต้าได้ประมาณร้อยละ 88 และมีความปลอดภัยสูง

นพ.จรุง กล่าวต่อว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนกำลังผลักดันให้บรรจุ “วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า” ไว้ในโปรแกรมวัคซีนพื้นฐานที่รัฐจัดหามาให้ฟรีสำหรับเด็กไทย