ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครบรอบ 10 ปี พ.ร.บ.คุมเหล้า พบร้องเรียนทำผิดกฎหมาย 2,045 ราย ด้านนักวิชาการ-ภาคประชาชน เรียกร้องพัฒนากฎหมายลูกเพิ่มความเข้มให้เท่าทันธุรกิจ เชื่อช่วยตัดวงจรอำนาจนายทุน วิ่งเต้นล้มกฎหมาย การโฆษณาหลบเลี่ยงฉ้อฉล

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.61 เวลา10.00 น. ที่เดอะฮอลล์ บางกอก วิภาวดี 64 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จัดเวทีเสวนา “10 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสังคมไทย” ภายในงานมีระดมความคิดเห็น ทบทวนการทำงานที่ผ่านมาและประสิทธิผลของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดผลกระทบ ตลอดจนทบทวนการต่อสู้กว่าจะได้ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ โดยมีภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 150 คน

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ที่สำรวจประเมินผล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งสำรวจปี 2551 ที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้ ปี 2553 และปี 2561 พบว่า หลังมี พ.ร.บ. ภาพรวมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ภายใน 5นาที ลดลงถึงร้อยละ 7 และผู้ที่สามารถเข้าถึงร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 นาที ลดลงร้อยละ 60

ในส่วนของมาตรา 27 ห้ามจำหน่ายในสถานที่สาธารณะ พบว่า ลดลงในทุกพื้นที่ถึงร้อยละ 81 แต่ยังมีหอพักที่เป็นสถานที่ที่มีการฝ่าฝืนขายมากที่สุด คือ ร้อยละ 2.3 ขณะที่มาตรา 30 ห้ามส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถม ลดลงร้อยละ 43 ที่น่าเป็นห่วง คือ มาตรา29 ห้ามจำหน่ายแก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่ายี่สิบปี พบว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดซื้อเครื่องดื่มฯได้มากขึ้นจากร้อยละ 83 ที่ซื้อได้ในปี 2551 เป็นร้อยละ 88 ในปี 2561

นพ.บัณฑิต กล่าวว่า นอกจากนี้มาตรา 32 การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สัดส่วนประชาชนที่พบเห็นการโฆษณา อย่างน้อย 1 สื่อใน 1 วัน ลดลงจากร้อยละ 53 เหลือร้อยละ 36 ในปีที่ 2 แต่เพิ่มเป็นร้อยละ 39 ในปีที่ 10 หลังมี พ.ร.บ. หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ11 ในช่วง 8 ปีหลัง ทั้งนี้การโฆษณาที่มีการพบเห็นเพิ่มขึ้นมาก คือ สื่ออินเตอร์เน็ต เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 134 และร้านค้าเป็นช่องทางที่ธุรกิจเครื่องดื่มฯ ใช้โฆษณาเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ ประชาชนเห็นสื่อโฆษณาในร้านค้าร้อยละ 9.5 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2561 ส่วนสื่อหลักต่างๆ ที่ประชาชนเห็นโฆษณาลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โทรทัศน์ ป้ายกลางแจ้ง สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และสื่อเคลื่อนที่

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า กว่า 10 ปีของการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชัดว่าคนไทยส่วนใหญ่รับรู้กฎหมายมากขึ้น แต่ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญคือภาคธุรกิจ หาช่องทางเลี่ยงกฎหมาย หรือทำผิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย สะท้อนจากการเฝ้าระวังและบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พบว่า ตลอดปีที่ผ่านมา มีสมาชิกร้องเรียนการทำผิดกฎหมาย มากถึง 2,045 ครั้ง ขณะที่เครือข่ายฯจากส่วนกลางได้ดำเนินคดีและแจ้งไปยังหน่วยงานในพื้นที่กว่า 633 กรณี

ฐานความผิดส่วนใหญ่ คือ ส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม ขายโดยไม่มีใบอนุญาต ขายในสถานที่ห้ามขาย เร่ขายและขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั้งนี้หากจะให้เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้ดูแลกฎหมายฉบับนี้ ต้องกำหนดมาตรการใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง และหากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งทุกระดับจริงจังบังคับใช้กฎหมายมากกว่านี้ ปัญหาจากน้ำเมาจะลดลงได้เกินครึ่ง และขอเรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจหยุดวิ่งเต้นแก้กฎหมาย เช่น เสนอให้แก้ไขช่วงเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น แก้ไขเรื่องการโฆษณา ซึ่งล้วนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจทั้งสิ้น

ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า จุดอ่อนของกฎหมายฉบับนี้คือ การบังคับใช้ยังไม่เข้มแข็งพอ อีกทั้งกำลังคน เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ เลยทำให้ประสิทธิภาพของกฎหมายไม่เต็มร้อย ขณะเดียวกัน นโยบายของภาครัฐ ไม่สอดคล้องกับกฎหมายฉบับอื่น เช่น สรรพสามิต กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดช่องว่างให้ภาคธุรกิจโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เลี่ยงกฎหมาย เช่น เอาตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายการค้า ไปจดทะเบียนเป็นน้ำดื่ม โซดา ให้ตัวเองโฆษณาได้ คนก็เข้าใจว่าเป็นเบียร์ หรือในงานคอนเสิร์ตติดป้ายขายน้ำ แต่เปิดดูข้างในขายเบียร์

“อยากเรียกร้องให้มีการพัฒนากฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติ ให้เข้มแข็งขึ้นกว่านี้ เพื่อตัดวงจรปัญหาภาคธุรกิจ ที่พยายามเลี่ยงกฎหมาย รวมไปถึงความพยายามล๊อบบี้วิ่งเต้น ใช้วิธีซิกแซ็กล้มกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้ขายเหล้าเบียร์ได้ก็กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องของอิทธิพล นายทุนในพื้นที่ อำนาจเงิน การเมือง เจ้าหน้าที่ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมาย ทำให้กฎหมายอ่อนแอเข้าไปอีก รวมถึงการไม่เท่าทันกับกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจน้ำเมา และอยากฝากไปยังภาคธุรกิจ ให้ทำอาชีพด้วยความโปร่งใส มีจริยธรรม เลิกเป็นศรีธนญชัยได้แล้ว” ดร.บุญอยู่ กล่าว