ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คกก.ปฏิรูปสาธารณสุข ชี้ทิศทางการปฏิรูป เน้นการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชาชนแบบองค์รวม ตอบโจทย์ของประชาชนทุกช่วงวัย ทุกระดับรายได้ ทุกกลุ่มเสี่ยง และทุกระดับของการรักษา

นพ.เสรี ตู้จินดา

นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ มีความตั้งใจจริงในการร่างแผนและขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่มีเป้าหมายในการปฏิรูปการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศที่ตอบโจทย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สร้างความสมดุลในระบบโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป้าหมายสูงสุดคือสุขภาวะที่ดีของประชาชนไทยทุกหมู่เหล่าที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยได้เสนอทิศทางการปฏิรูป ต่อที่ประชุมระดมความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปฏิรูปกลไกการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข (Retreat) ประจำปีงบประมาณ 2561 ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ระบบบริหาร ระบบริการและคุ้มครองผู้บริโภค ข้อมูลสารสนเทศและกำลังคน ระบบการเงินการคลัง

โดยแผนปฏิรูปประกอบด้วยการสร้างระบบที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้

1.‘เข้าใจ’ ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชาชนแบบองค์รวม โดยพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่ไม่รอให้ประชาชนเจ็บป่วยจึงค่อยรักษา ทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ย่อย มีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาทำงานร่วมกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนมีความไว้วางใจไม่ต้องไปรอรับบริการอย่างแออัดที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

2.ตอบโจทย์ของประชาชนทุกช่วงวัย ทุกระดับรายได้ ทุกกลุ่มเสี่ยง และทุกระดับของการรักษาไม่ว่าจะเป็นการรักษาชั้นต้น การส่งต่อ การรักษาเฉพาะทาง การรักษาฉุกเฉิน

3.ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย รวมทั้งปรับแนวคิดเรื่องการใช้สมุนไพรให้มีความยืดหยุ่นแต่ตรงตามหลักวิชาการ

4.มีการกระจายการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขไปสู่พื้นที่ย่อยอย่างแท้จริง โดยการยกระดับเขตสุขภาพซึ่งเข้าใจความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ดีที่สุดให้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายระดับพื้นที่และได้รับการสนับสนุนงบประมาณและบุคคลากรที่เพียงพอและเหมาะสม

5.มีเอกภาพด้านนโยบายระดับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความไม่กลมกลืนของระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

6.ก้าวทันและใช้ประโยชน์ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการประยุกต์ใช้มีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือเพื่อยังประโยชน์ให้กับประชาชน เช่นเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างหน่วยรักษาพยาบาลและหน่วยอื่นรวมทั้งภาคเอกชน

7.ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อ

8.มีการจัดการด้านการเงินการคลังอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักว่าการใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่า ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง เพื่อประโยชน์ทั้งต่อคนรุ่นปัจจุบันและลูกหลานในอนาคต

ทั้งนี้ ในการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานหรือโครงสร้างในระบบสาธารณสุขบางส่วน ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน โดยคณะกรรมการเปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายตลอดเวลา