ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิศุภนิมิตฯ เผย ผลงานเด่น อสต.ภูเก็ต ช่วยคัดกรองสุขภาพและควบคุมโรคในชุมชนแรงงานข้ามชาติ ส่งผลเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ยกเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนงานสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ พร้อมบรรจุในแผนยุทธศาสตร์แรงงานข้ามชาติของจังหวัด พร้อมแนะรัฐต้องให้ความสำคัญ อสต. จัดระบบสนับสนุนพร้อมมอบขวัญกำลังใจเช่นเดียวกับ อสม.

น.ส.จันทิมา เพชรสังข์ ผู้ประสานงานโครงการพิเศษ จ.ภูเก็ต มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ดำเนินโครงการรณรงค์และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์และวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยได้รับการสนับสนุนงบจากกองทุนโลก ดำเนินงานใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ถลาง และ อ.กระทู้ มีการให้ความรู้และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) เพื่อทำงานและติดตามผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งหลังจากที่ได้ทำงานระยะเวลาหนึ่ง จึงได้มีการประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) โดยมองว่า อสต.น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติได้ นอกจากการดำเนินนโยบายบัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุข และจากการพูดคุยส่งผลให้แผนยุทธศาสตร์แรงงามข้ามชาติของ จ.ภูเก็ตได้มีการบรรจุ อสต.เป็นหนึ่งในกลไกเพื่อร่วมขับเคลื่อนด้านสุขภาพของแรงงานชาติในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติใน จ.ภูเก็ต จากการสำรวจโดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ คาดว่าประมาณ 30,000-50,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่คงที่เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเข้าออกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวน อสต.มีประมาณ 110-120 คน กระจายทำงานใน 3 อำเภอ นอกจากการทำหน้าที่คัดกรองและติดตามผู้ป่วยวัณโรคและเอชไอวีแล้ว อสต.ยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานภายในชุมชนให้กับหน่วยบริการภาครัฐ ในกรณีที่เกิดโรคระบาดตามฤดูกาล อย่างเช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น ที่ต้องมีการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ซึ่งภายหลัง อสต.ยังขยายทำในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ รวมไปถึงการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษา

น.ส.จันทิมา กล่าวว่า ปัญหาของการสร้างเครือข่าย อสต.ในพื้นที่ภูเก็ต เนื่องจาก อสต.สวนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้ามาประเทศไทยเพื่อหารายได้ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการเดินทางกลับประเทศ โดยในการสำรวจข้อมูลแรงงานข้ามชาติแต่ละครั้งในช่วง 3-4 เดือน พบว่าแรงงานข้ามชาติจะมีการเคลื่อนย้ายถึงร้อยละ 60 รวมถึง อสต.ที่ย้ายออกนอกพื้นที่ไปด้วย ทำให้ต้องมีการอบรม อสต.ใหม่เพื่อทดแทนอย่างต่อเนื่อง

“แรงงานข้ามชาติในภูเก็ตนอกจากทำประมงแล้ว ส่วนหนึ่งทำงานก่อสร้างที่มักมีการเคลื่อนย้ายภายหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการติดตาม โดยเฉพาะ อสต. ทำให้ต้องมีการคัดเลือก อสต.ใหม่และอบรมเพื่อทดแทน” ผู้ประสานงานโครงการพิเศษ จ.ภูเก็ต กล่าว

ส่วนการคัดเลือก อสต.นั้น น.ส.จันทิมา กล่าวว่า จะใช้กระบวนการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่ อสต. หรือเป็นการแนะนำโดยนายจ้างหรือหัวหน้าคนงาน รวมถึงความสมัครใจทำหน้าที่ อสต.ของผู้ที่ได้คัดเลือก ซึ่งภายหลังได้แรงงานข้ามชาติที่ร่วมเป็น อสต.แล้ว จะมีการอบรมเพื่อให้ความรู้ ทั้งในด้านบทบาทและการทำหน้าที่ อสต. รวมถึงความรู้เรื่องสุขภาพและโรคต่างๆ และจากการทำงานของ อสต.ที่ผ่านมา วันนี้ทำให้ อสต.นอกจากได้รับการยอมรับภายในชุมชนแรงงานข้ามชาติแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามอยากให้ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน อสต.ชัดเจน เพราะด้วย อสต.นอกจากทำงานจิตอาสาโดยที่ไม่มีค่าตอบแทนแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการทำงานด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จึงอยากให้มีการจัดระบบสนับสนุน และติดตาม อสต.ที่ชัดเจนเช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสต.) รวมถึงการมอบเกียรติบัตรให้กับ อสต.ที่มีผลงานด้านสุขภาพในชุมชนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

“หากถามว่า อสต.มีความสำคัญอย่างไร ตอบได้ว่า อสต.มีความสำคัญอย่างยิ่งในงานดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการควบคุมโรคในพื้นนที่ นอกจากทำหน้าที่คัดกรองโรคที่เป็นปัญหาและการส่งต่อเพื่อรับการรักษาแล้ว ยังเป็นผู้ที่ช่วยกระจายข่าวสารต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันจะมีสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่นำเสนอข้อมูลที่รวดเร็วแล้ว แต่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติยังมีข้อจำกัดด้านการศึกษาและภาษา ทั้งการให้ข้อมูลโดย อสต.ยังมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ขณะเดียวกันยังช่วยเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อส่งกลับมายังหน่วยงานได้” ผู้ประสานงานโครงการพิเศษ จ.ภูเก็ต กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง