ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกเทศมนตรีนครรังสิต ชี้ กองทุนสุขภาพตำบลมีเป้าหมายดูแลพระสงฆ์อยู่แล้ว สบช่องการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเป็นเครื่องมือใหม่ในการสร้างกระบวนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้พระสงฆ์

นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม

นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวถึงการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งได้ประกาศใช้ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อปลายปี 2560 ตอนหนึ่งว่า แท้ที่จริงแล้วกองทุนสุขภาพประจำตำบล ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ อบต./เทศบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมมีวัตถุประสงค์และมีพระสงฆ์เป็นเป้าหมายอยู่แล้ว ดังนั้นโดยหลักการการทำงานทั่วไปก็มีความพยายามขับเคลื่อนให้นำเอางบประมาณจากกองทุนสุขภาพประจำตำบลไปใช้กับกลุ่มพระสงฆ์อยู่แล้ว ฉะนั้นการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติก็ถือเป็นส่วนเสริม นับเป็นเครื่องมือใหม่เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด การขับเคลื่อน ที่จะนำเงินส่วนนี้มาใช้เพิ่มขึ้น

นายธีรวุฒิ กล่าวว่า การใช้เงินในกองทุนสุขภาพประจำตำบลกับพระสงฆ์นั้น ก็เป็นกรอบเดียวกันกับการใช้เงินในกองทุนกับกลุ่มอื่นๆ คือจะเป็นงานด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคเท่านั้น ไม่รวมถึงการรักษาโรค โดยเราก็มีเป้าหมายว่าจะต้องให้การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามมิติกลุ่มโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับพระสงฆ์เป็นหลักด้วย อาทิ เบาหวาน ความดัน

“ตัวอย่างการใช้เงินในปัจจุบัน เช่น การจัดกิจกรรมคัดกรองโรค การออกกำลังกาย การกายภาพ เพราะทุกวันนี้พระสงฆ์มีปัญหาเรื่องการออกกำลังกาย เนื่องจากวัตรปฏิบัติของสงฆ์ไม่เอื้อให้สามารถออกกำลังกายใจที่สาธารณะได้ เราจึงต้องหาเครื่องมือที่สร้างโอกาสให้พระสามารถออกกำลังกายได้ ขณะเดียวกันก็นำงบประมาณไปใช้เพื่อปลูกฝังประชาชนให้รู้จักวิธีใส่บาตรอย่างถูกวิธี เพราะพระสงฆ์ไม่มีโอกาสเลือกฉันได้” นายธีรวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการดำเนินงานเรื่องสุขภาพพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีองค์ประกอบและข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ เรื่องการตรวจโรค พระสงฆ์ก็ไม่ค่อยสะดวกที่จะมารับบริการ และพระสงฆ์เองก็มีสวัสดิการในระบบหลักประกันสุขภาพ ฉะนั้นพระสงฆ์ก็จะสะดวกไปตรวจตามสถานบริการที่ตัวเองสะดวก การขับเคลื่อนจึงยาก รวมถึงการรณรงค์ให้ถวายภัตตาหารก็นับเป็นเรื่องยากมากที่จะให้เกิดการปฏิบัติจริง

“จะเห็นได้ว่าการทำงานเรื่องพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ยากมาก จึงอาจต้องใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์มาช่วยให้เกิดกระบวนขับเคลื่อนให้ดีขึ้น” นายธีรวุฒิ กล่าว

อนึ่ง กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคีต่างๆ ในพื้นที่ ให้เข้ามาบริหารจัดการระบบสุขภาพร่วมกันอย่างแข็งขัน เกิดระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งปัจจุบันมี อปท.จำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.49 ของ อปท.ทั่วประเทศที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มเป้าหมายการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ อาทิ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ พระสงฆ์อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น โดย อปท.สามารถใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้านสุขภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่งถึงและครอบคลุมในกลุ่มพระสงฆ์เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาระดับปฐมภูมิเชิงรุกที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตพระสงฆ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพตนเอง