ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกเทศมนตรีนครรังสิต ชี้ “กองทุนสุขภาพตำบล” กลไกเชื่อมต่อระบบราชการและประชาสังคม พัฒนางานสุขภาพท้องถิ่นแบบก้าวกระโดด ชี้การอบรมพัฒนาสมรรถะผู้นำสร้าง กปท. ช่วยเพิ่มความเข้าใจ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนงานกองทุน เผยเดินหน้า “โครงการจัดซื้อหน้ากากอนามัย” ร่วมป้องกันฝุ่น PM 2.5 ช่วยลดปัญหาสุขภาพ ดูแลชาวบ้านในพื้นที่

นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวในการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” จัดโดยสถาบันสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ว่า ภาระหน้าที่ด้านสุขภาพและการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่ง แต่การขับเคลื่อนงานในพื้นที่หากใช้ระบบราชการเพียงอย่างเดียวในการดำเนินการเป็นสิ่งที่ยากจะบรรลุผล ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมและยังต้องมีเม็ดเงินสนับสนุนเพื่อดำเนินการ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นฯ จึงเป็นกลไกที่เชื่อมต่อในส่วนนี้ เพราะนอกจากมีงบประมาณสนับสนุนแล้ว ยังมีความรู้จากแต่ละภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนงานมิติสุขภาพได้ ทำให้ที่ผ่านมางานด้านสุขภาพของท้องถิ่นเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ภายหลังจากมี กปท.มาสนับสนุน

จากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ที่ได้เริ่มต้นในปี 2549 โดยในส่วนของระเบียบและหลักเกณฑ์การดำเนินงานกองทุน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงการดำเนินการที่ออกไปนอกระบบ ขณะนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของท้องถิ่น เป็นงานที่ท้องถิ่นไม่เคยทำเลย จึงอาจติดขัดในเรื่องความไม่แน่ใจของบุคลากรในท้องถิ่นเอง แต่ก็ทำให้เกิดการพัฒนางานด้านสุขภาพของท้องถิ่นพัฒนาไประดับหนึ่ง ระยะที่ 2 ช่วงการแก้ไขระเบียบและหลักเกณฑ์กองทุน โดยนำระเบียบราชการมาจับ เรียกว่าเป็นการดึงกองทุนเข้าสู่ระบบราชการ 100% จนส่งผลให้การดำเนินงานสะดุดลง และระยะที่ 3 เป็นช่วงการแยกกระบวนการ โดยในกรณีที่เกี่ยวข้องกับราชการจะใช้ระบบราชการขับเคลื่อน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาขนจะใช้กระบวนการภาคประชาชนขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดความสมดุล เกิดโครงการเพื่อสุขภาพที่หลากหลายและตอบโจทย์ได้มากขึ้น

“จากการมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ทำให้เทศบาลนครรังสิตสามารถทำในเรื่องที่เราไม่เคยทำได้ มีข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับชาวบ้านมากขึ้น เพราะในอดีตข้อมูลสุขภาพที่นำมาใช้นั้นมาจากโรงพยาบาลที่มีแต่ผู้ป่วยและจำกัด ไม่มีข้อมูลระดับเมือง แต่กองทุนนี้ที่สามารถดำเนินกิจกรรมตรวจสุขภาพชาวบ้านได้ ทำให้เรามีมิติของข้อมูลสุขภาพทั้งหมด สามารถลงลึกจัดการปัญหาสุขภาพในพื้นที่ได้ เช่น ปัญหาโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ทำให้เกิดการจัดการเชิงรุก เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก”

สำหรับการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ นายธีรวุฒิ กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนมีการปรับเปลี่ยนระเบียบต่างๆ ที่ยังตามไม่ทัน และในด้านการบริหารกองทุนก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจ การอบรมครั้งนี้จึงเป็นการทบทวนระเบียบและการบริหารเพื่อให้เกิดความกระจ่างในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้ได้มุมมองการดำเนินงานกองทุนใหม่ๆ มาขับเคลื่อนเพิ่มเติม

นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ส่วนโครงการป้องกันสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 นั้น เทศบาลได้ติดตามปัญหานี้ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว มีการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองเพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งปัญหานี้ต้องใช้มาตรการหลายอย่างดำเนินการ มีทั้งที่เทศบาลทำโดยตรง และส่วนหนึ่งก็ใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ อย่างโครงการจัดซื้อหน้ากากอนามัยให้กับชาวบ้าน โดยเราได้ดำเนินการไปแล้วโดยใช้งบประมาณของเทศบาล และอยู่ระหว่างอนุมัติเพิ่มเติมอีกที่เป็นการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ สนับสนุนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระจายโรคได้