ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลวิจัยทางเลือกการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ชี้ “ระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง” เป็นจุดแข็งของระบบบริการ แต่ควรเพิ่มความครอบคลุมคุณภาพ – มาตรฐานบริการ พร้อมแนะปรับทิศทางนโยบายคลินิกหมอครอบครัว เน้นครอบคลุมในเขตเมืองหรือพื้นที่ประชากรหนาแน่นก่อน พร้อมเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการและบุคลากรโดยเน้นการทำงานเชื่อมประสานทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์

จากการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2561 เมื่อเร็วๆนี้ ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา เช่น ปัญหาจากความแออัดของประชากร ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพ เป็นต้น การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมืองให้เข้มแข็งจึงมีความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายที่ตอบสนองต่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ อาทิ นโยบายคลินิกหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 โดย สวรส. ได้ร่วมสนับสนุนการวิจัยเรื่องการสังเคราะห์ทางเลือกของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง เขตสุขภาพที่ 3 เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอใช้ประกอบแนวทางการพัฒนา

ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์

ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ นำเสนอถึงผลการศึกษาว่า ได้ทำการศึกษาระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ (รพ.สวรรค์ประชารักษ์) และ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร (รพ.กำแพงเพชร) พบว่า ทั้ง 2 พื้นที่ มีการบริหารจัดการระบบบริการฯ โดยมีกลุ่มงานเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลเป็นแกนหลัก การวางแผนจัดบริการภายใต้นโยบายคลินิกหมอครอบครัว ดำเนินการโดยหน่วยงานสังกัด สธ. ผ่านการจัดการของคณะกรรมการประสานงานสุขภาพระดับอำเภอ (คปสอ.) ทำให้เกิดจุดแข็งของระบบบริการฯ คือ มีการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ประชาชนพึงพอใจในบริการจากการกระจายกำลังแพทย์ลงไปปฏิบัติงานตามเครือข่ายบริการปฐมภูมิ

“อย่างไรก็ตาม การวิจัยพบว่า คุณภาพและมาตรฐานบริการยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนเขตเมืองได้ทั่วถึง ขาดการสื่อสารเชิงนโยบายจากส่วนกลางที่มุ่งเน้นให้พื้นที่ดำเนินนโยบายคลินิกหมอครอบครัวในเขตเมือง ทั้งยังพบว่า ยังไม่สามารถจัดกำลังคนได้ตามกรอบนโยบายคลินิกหมอครอบครัวที่ครอบคลุมทุกพื้นที่เขตเมือง เช่น หน่วยบริการขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทำให้บุคลากรไม่เพียงพอต่อการจัดบริการ ทั้งยังขาดการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตและผู้ใช้บุคลากร ขณะที่การวางแผนจัดบริการปฐมภูมิถูกกำหนดโดย สธ.เป็นหลัก การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ ยังมีน้อย” นักวิจัย กล่าว

ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลการศึกษาว่า สธ.ควรปรับทิศทางของนโยบายคลินิกหมอครอบครัว โดยให้มุ่งเน้นและเร่งความครอบคลุมบริการในเขตเมืองหรือพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นก่อน พร้อมเร่งรัดให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการและบุคลากร เช่น การบูรณาการทักษะด้านเวชศาสตร์ป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพในการให้บริการในคลินิคและในชุมชน เร่งผลิตและพัฒนาพยาบาลปฐมภูมิ โดยให้เป็นผู้จัดการผู้ป่วยรายกรณี มุ่งเน้นการตอบสนองต่อปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและสุขภาพของผู้สูงวัยเขตเมือง สนับสนุนให้เกิดการจัดการระบบบริการปฐมภูมิในระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคี ทั้งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชน โดยร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และกลไกการเงินสำหรับพื้นที่เขตเมืองเพื่อให้เกิดการบริหารร่วมกันในพื้นที่ทั้งด้านการรักษาพยาบาลและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการ พชอ. ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้เสนอให้มีการพัฒนาฐานข้อมูลกลางในการทำงานร่วมกันทั้งด้านบริการและบริหาร เป็นต้น

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

ทั้งนี้ จากการประชุมกรรมการ สวรส. ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน นพ.ปิยะสกล ระบุว่า คลินิกหมอครอบครัวเป็นนโยบายสำคัญที่ สธ. ได้ดำเนินการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 กำหนดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยมีทีมหมอครอบครัวดูแลประชาชน 10,000 คนต่อทีม เพื่อลดความแออัดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจากการติดตามและลงไปเยี่ยมบางพื้นที่ ทำให้พบว่า นโยบายคลินิกหมอครอบครัว อาจยังไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปในอำเภอที่ไม่ใช่เขตเมืองหรือพื้นที่ประชากรไม่มาก เนื่องจากพื้นที่นั้นๆ มีการบริหารจัดการดีอยู่แล้ว และบุคลากรยังรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน เช่น รพ.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีจำนวนประชากรไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องตั้งทีมหมอครอบครัว เพราะจะทำให้พื้นที่เกิดความลำบากในการจัดหาแพทย์มาประจำ ทั้งๆที่การทำงานแบบเดิมดีอยู่แล้วและประชาชนก็พึงพอใจ ทั้งนี้ โดยหลักการคลินิกหมอครอบครัว ควรเริ่มที่ รพ.ศูนย์ หรือ รพ.ทั่วไป เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง แต่ไม่ใช่การปูพรมในทุกอำเภอ ดังนั้นในระยะแรกของนโยบาย พื้นที่ต้องจัดเตรียมระบบให้ดีก่อน รวมถึงเรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆ ไปด้วย โดยผลงานวิจัยเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับการทบทวนและปรับปรุงนโยบายฯ ของกระทรวง สธ. ต่อไป

สำหรับข้อเสนอจากงานวิจัยฯ ได้ถูกนำไปใช้ในการพิจารณาทบทวนนโยบายคลินิกหมอครอบครัวในการประชุมพัฒนาปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ เช่น สธ.จะมีการทบทวนแผนการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว โดยจะมีการตั้งทีมประเมินความเหมาะสมในการจัดตั้งทีมหมอครอบครัว เพื่อให้ดำเนินงานได้จริงตามเกณฑ์ เช่น เกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนทีมหมอครอบครัวที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่ต้องมีเกณฑ์กลาง ขณะที่ในช่วงเเรกนี้จะเน้นการพัฒนาที่เขตเมืองก่อน ส่วนเขตกึ่งชนบท/ชนบท ที่มีความพร้อมของทีมหมอครอบครัวก็สามารถดำเนินการได้เลย ทั้งนี้บทบาทหน้าที่ของทีมหมอครอบครัว จะต้องเป็นตัวกลางในการทำงานเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนงานในพื้นที่ ตลอดจนชุมชน ครอบครัว และโรงพยาบาล ในการดูแลประชาชนตั้งแต่การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค รักษาฟื้นฟู และส่งต่อเพื่อรับการรักษากรณีที่เกินศักยภาพ รวมทั้งติดตามผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาล เป็นต้น