ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ภญ.อมรา วงศ์พุทธพิทักษ์” นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศประจำปี 2561 มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุเป็นผู้ริเริ่มระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตรวจวิเคราะห์สารตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในอาหาร เป็นผู้เริ่มต้นการศึกษาปริมาณสารพิษที่คนไทยได้รับจากการบริโภคอาหาร อันเป็นคุณูปการยิ่งต่องานวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศ

นพ.สถาพร วงษ์เจริญ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครบรอบ 76 ปี นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ.2561 คือ ภญ.อมรา วงศ์พุทธพิทักษ์ ซึ่งผลงานเด่นคือเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มบทบาทการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย

ทั้งนี้มาตรฐานห้องปฏิบัติการนั้น มีความสำคัญยิ่งในยุคที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน เนื่องจากการที่ห้องปฏิบัติการได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพนั้น แสดงว่าห้องปฏิบัติการดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือในรายงาน ผลการวิเคราะห์ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการใช้สินค้าหรือผลผลิตที่ได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองฯ อีกทั้งเมื่อมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้องค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากเมื่อเข้าระบบแล้วจะต้องมีการทดสอบ/วัด/สอบเทียบที่น่าเชื่อถือ มีการตรวจติดตามเป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร

และมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ ช่วยส่งเสริมการส่งออก ลดการกีดกันทางการค้าอันเนื่องจากวิธีทดสอบได้ สำหรับการเป็นผู้รับรองห้องปฏิบัติการ นับเป็นการให้การยอมรับอย่างเป็นทางการแก่ห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถ เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบการยอมรับ สร้างความมั่นใจว่าห้องปฏิบัติการ ยังปฏิบัติตามข้อกำหนดและวิธีปฏิบัติงานมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ พยาธิวิทยาคลินิก ที่ได้รับการรับรองไปแล้วจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ และร้องขอการรับรองเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้พัฒนางานรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด จนได้รับการรับรองจากองค์การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค APLAC และ ระดับโลก ILAC

ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ภญ.อมรา ยังได้ริเริ่มให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้จัดการการทดสอบความชำนาญ (Proficiency Testing, PT) ในระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการโดยใช้โครงการสอบเทียบผลวิเคราะห์ อะฟลาทอกซินในอาหารระหว่างห้องปฏิบัติการของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2540-2542 และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการทดสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

สำหรับประวัติการทำงานของ ภญ.อมรา ได้เริ่มต้นรับราชการในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ตรี กองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ.2508 นอกจากผลงานด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการแล้ว ยังมีผลงานการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในอาหาร ซึ่งในระยะแรกตรวจได้เฉพาะสารตกค้างในกลุ่มสารประกอบคลอรีน กลุ่มสารประกอบฟอสเฟต และกลุ่มไดไธโอคาร์บาเมต รวม 25 ชนิด ต่อมาสามารถตรวจสารตกค้างของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้เพิ่ม 2 ชนิดคือ สารกลุ่มคาร์บาเมต และพาราควอต สารเคมีจากสิ่งแวดล้อม PCB กับ TOCP รวมทั้งยาปฏิชีวนะคลอแรมเฟนิคอล รวมทั้งหมด 103 ชนิด ในตัวอย่างอาหารทุกประเภท

ในปี พ.ศ. 2529 ได้ตรวจการปนเปื้อนของสารกำจัดแมลงในถั่วเหลือง ถั่วเขียว และงา ที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำพืชไร่เหล่านี้ไปใช้ผลิตอาหารเสริมเด็กอ่อน ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น และนำผลการปนเปื้อนของสารเอ็นดรินในถั่วเขียวส่งให้ US- FDA เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้ถอนการกักกันการนำเข้าถั่วเขียวของไทยอันเนื่องจากพบสารเอ็นดรินเกินมาตรฐานสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ

และเป็นผู้เริ่มต้นการศึกษาปริมาณสารพิษที่คนไทยได้รับจากการบริโภคอาหาร (pesticides intake) ได้ทดลองหารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับลักษณะอาหารไทย ส่งผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติคือ Dietary exposure of pesticide for Thai people during 1989-1996 ใน J. AOAC INTERNATIONAL ซึ่งสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารยังคงดำเนินการตรวจเฝ้าระวังการได้รับสารกำจัดแมลงจากอาหารของคนไทยอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

“ผลงานของ ภญ.อมรา เป็นที่ประจักษ์ในการด้านการพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ทำให้ห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล เกิดความน่าเชื่อถือของผลวิเคราะห์ อันเป็นหัวใจสำคัญของงานวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีผลงานตีพิมพ์ทางด้านความปลอดภัยอาหาร ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ และมาตรวิทยาเคมี โดยแบ่งเป็นผลงานวิจัยมากกว่า 30 เรื่อง และบทความวิชาการมากกว่า 20 เรื่อง นับได้ว่าการปฏิบัติงานของท่านเป็นคุณูปการยิ่งต่องานวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทย" นพ.สถาพร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง