ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดสปสช.ลงพื้นที่เยี่ยมชมคลินิกหมอครอบครัว-หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ผลงานชัดช่วยลดความแออัดและระยะเวลารอรักษาในโรงพยาบาล ช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อรังและต้องการการดูแลต่อเนื่องให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

วันที่ 23 เมษายน 2561 ณ. โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น นางชุมศรี พจนปรีชา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (PCC) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (PCC) โดยมี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลชุมแพ เป็นโรงพยาบาลขนาด 370 เตียง และมีแผนจะขยายเป็น 500 เตียงในปี 2562 และเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นจุดศูนย์กลางเพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ไม่ต้องส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่อยู่ห่างออกไปมาก โดยในส่วนของหน่วยปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (PCC) นั้น เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) จัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว โดยเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2560 ด้วยการรวมกลุ่มหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการให้บริการ การส่งต่อ และการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดความแออัดและลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลลงได้มาก

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า หน่วยปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว ของโรงพยาบาลชุมแพ มี 2 ทีม คือ 1.ทีมศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน (ศสม.) ชุมแพ รับผิดชอบในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชุมแพ บริหารจัดการโดย รพ.ชุมแพ และ 2.ทีม รพ.สต.บ้านมาลา ต.ชุมแพ และ รพ.สต.ไชยสอ บริหารจัดการโดยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอชุมแพ มีประชากรในเครือข่าย 23,510 คน ควบคุมกำกับโดยคณะกรรมการบริหารเครือข่าย มีแพทย์เป็นหัวหน้าทีม ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ แต่ให้บริการแบบพาร์ทไทม์ เนื่องจากไม่สามารถให้บริการเต็มเวลาได้ เพราะโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานหน่วยปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว นั้น ควรมีการเพิ่มทรัพยากรในการทำงาน เช่น รถยนต์ประจำหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานเชิงรุก และการสร้างคุณค่างานบริการปฐมภูมิเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ และสหวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ และควรปรับรูปแบบการสนับสนุนงบประมาณโดยจัดสรรตามจำนวนประชากรในพื้นที่เป็นฐาน และจัดเพิ่มให้เมื่อสามารถดำเนินงานได้ตามหลักเกณฑ์