ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดือนพฤศจิกายน 2017 มีการตีพิมพ์งานวิจัยโดยทีมจากฮ่องกงที่ศึกษาคนสุขภาพดีจำนวนกว่า 160,000 คน อายุตั้งแต่ 20-60 ปี มีจำนวนเพศชายกับหญิงพอๆ กัน ติดตามไปนานถึง 18 ปี

พบว่า คนที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะผิดปกติต่างๆ มากกว่าคนที่นอนหลับปกติ (6-8 ชั่วโมงต่อวัน) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะอ้วนลงพุง น้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ไขมันประเภท LDL และไตรกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูง และโรคเมตาโบลิค โดยจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นราวร้อยละ 6-12

นี่น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญอีกชิ้นที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ และอาชีพอื่นๆ ที่การทำงานมีผลต่อการนอนหลับ ไม่ว่าจะทั้งในภาครัฐหรือเอกชน

ควรถึงเวลาที่นายจ้างจะต้องปกป้อง และรับผิดชอบความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับบุคลากร โดยปรับระบบการทำงาน หรือหากปรับได้ยากก็จำเป็นต้องชดเชยด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสม

นี่คือการคุ้มครองสวัสดิภาพของคน ที่ไม่ค่อยได้รับการใส่ใจนักโดยเฉพาะในหมู่คนทำงานในระบบสุขภาพ มิใช่ให้แบกรับภาระงานเกินตัว เผาผลาญพลังงานชีวิตเกินกว่าที่ควรจะเป็น แล้วปล่อยให้เอาชีวิตรอดกันเอาเองอย่างที่เราเคยได้เห็นได้ฟังและได้ประสบกันมา

หากจะมุ่งนโยบายสร้างก่อนซ่อม เรื่องนอนหลับถือเป็นวาระแห่งชาตินะครับ

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

Deng HB et al. Short Sleep Duration Increases Metabolic Impact in Healthy Adults: A Population-Based Cohort Study. Sleep 2017; 40 (10).

ขอบคุณภาพประกอบจาก steemit.com