ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการทดสอบไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทรสช็อกโกแลต 13 ตังอย่าง พบ 8 ตัวอย่าง มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์ WHO แนะเลี่ยงบริโภค

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นิตยสารฉลาดซื้อ ได้จัดแถลงข่าวผลทดสอบ “ไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทรสช็อกโกแลต”

ผลการทดสอบโดนัทรสช็อกโกแลต จำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่า มี 5 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (WHO) คือ ควรพบไขมันทรานส์ในอาหารได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัม / หน่วยบริโภค ได้แก่ แด๊ดดี้ โด (Daddy Dough ดับเบิ้ล ช็อค), เฟลเวอร์ ฟิลด์ (Flavor Field โดนัทช็อกโกแลต), แซง - เอ - ตัวล (Saint ETOILE โดนัทช็อกโกแลต), เบรดทอล์ค (BreadTalk โดนัทช็อกโกแลต) และ คริสปี้ครีม (Krispy Kreme Doughnuts ช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ) นอกจากนี้นั้น ยังพบว่าโดนัทส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง เฉลี่ยที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี่

รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อนำไปผลิตอาหาร เช่น เนยขาว คุ้กกี้ ขนมปัง กาแฟทรีอินวัน ครีมเทียม หรือในโดนัท ทำให้อาหารอยู่ตัวและเก็บได้นานขึ้น ซึ่งการบริโภคไขมันทรานส์เกินกว่า 2.2 กรัม / วัน จะไปเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL : low - density - lipoprotein) และไปลดระดับไขมันดีให้น้อยลง (HDL : high - density - lipoprotein) จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจและความดัน รวมถึงยังสามารถทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดตีบ จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันดังกล่าว และควรพิจารณาในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการประกอบอาหาร อีกทั้งควรเลือกวิธีการปรุงอาหารด้วยการอบ นึ่ง ย่าง แทนการทอด

รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration (FDA)) ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการประกาศยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารภายในปี พ.ศ. 2561 นี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยเสนอยกร่างประกาศ ที่กำหนดห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมไฮโดรเจนลงในกระบวนการผลิตน้ำมัน (กระบวนการHydrogenation) ซึ่งคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

“ตามที่ อย. เคยเสนอยกร่างเรื่องการห้ามนำส่วนประกอบที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 นั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประกาศออกมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงอยากให้ อย.เร่งพิจารณาการออกประกาศดังกล่าว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ส่วนผู้ผลิตอาหารในเบื้องต้นนั้นสามารถปรับใช้ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่าควรมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัม / หน่วยบริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องรอประกาศฉบับดังกล่าวจาก อย.” นางสาวสารี กล่าว