ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายต้านน้ำเมา นำหลักฐานยื่น สธ.ฟันบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่และ4เพจดัง หลังตั้งใจโฆษณาเบียร์บนสื่อออนไลน์โจ๋งครึ่ม จี้รัฐต้องเอาจริงกับโฆษณาน้ำเมาออนไลน์ หวั่นแพร่ระบาดควบคุมยาก

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) พร้อมด้วย เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขผ่านทาง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้เอาผิดกับ 4 เพจดังที่รับรีวิวโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบริษัทเบียร์สิงห์ ผ่านสื่อออนไลน์อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากกรณีสื่อออนไลน์เฟชบุ๊คแฟนเพจ “ขี้เมาเล่าเรื่อง” ซึ่งมีผู้ติดตาม 374,107 คนได้โพสต์รูปผลิตภัณฑ์เบียร์ตราสิงห์ ประเภทขวด และกระป๋อง พร้อมของพรีเมี่ยม ประเภทเสื้อและกล่องบรรจุภัณฑ์ พร้อมระบุข้อความเชิญชวนให้ดื่มและร่วมสนุกเพื่อรับของรางวัลซึ่งมีคนกดถูกใจ 33,000 คน แชร์กว่าพันครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ต่อมาในวันเดียวกันเพจ “แดกเหล้า เมาเบียร์ เพลียไวน์” มีผู้ติดตาม185,127คน ได้โพสต์รูปในลักษณะเดียวกันคือผลิตภัณฑ์เบียร์ตราสิงห์ ประเภทขวด และกระป๋อง พร้อมของพรีเมี่ยม ประเภทเสื้อและกล่องบรรจุภัณฑ์ซึ่งมียอดคนกดถูกใจประมาณ 17,000คน มีคนกด Like กดแชร์จำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เพจ“Singha Life” มีคนกดถูกใจ 1,057,884 คน ได้โพสต์รูปโลโก้เบียร์สิงห์ รวมถึงเพจ “Singha” ได้โพสต์คลิปแสดงถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ขวดเบียร์สิงห์แบบใหม่ ซึ่งทั้งสองเพจเชื่อมโยงกับ www.singha.th ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของเบียร์สิงห์

“พฤติการณ์ดังกล่าว เชื่อมโยงให้เห็นถึงการสื่อสารการตลาด เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ โดยการเผยแพร่ผ่านทางเพจ เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา 30(5) ซึ่งเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น ประกอบ มาตรา 32การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายชูวิทย์ กล่าว

ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า จำเป็นต้องเร่งทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่คลอบคลุมสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะที่ผ่านมากรณีดารา เน็ตไอดอล ถือภาพขวดเบียร์ เผยแพร่ทางออนไลน์ก็มีการดำเนินคดีมาแล้ว กรณีนี้ก็ไม่ต่างกัน ซึ่งเครือข่ายฯเชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ ที่อาจจะอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอยากให้การดำเนินคดีไปให้ถึงธุรกิจที่เอาแต่รับประโยชน์ ต้องตั้งคำถามว่าทำไม่บริษัทแทบทุกรายถึงไม่ยอมทำตามกฎหมาย ทั้งๆ มีหลักเกณฑ์กำหนดให้สามารถทำได้ แต่เหตุใดจึงพยายามหลบเลี่ยงอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

เครือข่ายฯในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้ มีความห่วงใย และมีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข 3 ข้อเพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้

1.เร่งติดตามตรวจสอบการโฆษณาเบียร์สิงห์ ซึ่งเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ในลักษณะเพจรีวิว รวมไปถึงการมีกิจกรรมส่งเสริมการขายลด แลก แจกแถมในสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงผู้ที่ลงเผยแพร่การโฆษณาอย่างเด็ดขาด

2.เร่งประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตลอดจนอนุบัญญัติต่างๆ ในสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันมิให้เกิดการกระทำในลักษณะดังกล่าว เพราะมีความผิดตามกฎหมายชัดเจน เป็นประโยชน์ทางการค้าของบริษัท และขอเรียกร้องให้ประชาชน ยุติการเผยแพร่ ส่งต่อ ข้อความภาพ ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ เพราะคนได้ประโยชน์คือธุรกิจแต่ปัญหาทางกฎหมายจะตกกับผู้เผยแพร่ด้วย

และ 3.ขอสนับสนุนกระทรวงสาธารณะสุข ดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลกระทบทางสังคมมาอย่างยาวนาน และพร้อมเป็นหน่วยเฝ้าระวังแจ้งเหตุเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย