ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยมากมายพิสูจน์แล้วว่า การอดหลับอดนอนนั้นทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาทั้งทางกาย และอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ในขณะเดียวกัน การงีบหลับระหว่างวันก็ได้รับการศึกษาพบว่าเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ ช่วยให้สมาธิและความจำดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

แล้วงีบแค่ไหนถึงดี?

หากไม่เกิน 30 นาที ถือว่าดี

กูเกิ้ลและซัมซุงจะมีที่ให้พนักงานงีบระหว่างวัน โดยจะปลุกเมื่องีบไป 20 นาที

เจ้าหน้าที่ควบคุมทางเดินอากาศยาน (air traffic controller) จะมีระยะเวลาแนะนำให้งีบ 26 นาที

แต่หากงีบนานเกินไป ต้องระวังผลเสียคือ จะทำให้นอนหลับลึกเกินไป พอตื่นมาจะเพลีย เรียกว่า sleep inertia

นอกจากนี้งานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากลอย่าง Sleep ในเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 พบว่า จากการติดตามประชากรกว่า 150,000 คน นาน 11 ปี ชี้ให้เห็นว่า คนที่งีบกลางวันนานเกิน 60 นาทีเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่ไม่งีบถึงเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นหากงีบตั้งแต่ 45 นาทีขึ้นไป ในขณะที่ถ้างีบไม่เกิน 30 นาที จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวไจและหลอดเลือดได้ราวร้อยละ 5-10

ที่น่าสนใจคือมีงานวิจัยอื่นๆ ศึกษาเรื่องนี้และเน้นย้ำให้ระวังการงีบกลางวัน หากงีบบ่อยเกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืองีบยาวเกิน 2 ชั่วโมง จะมีโอกาสสูงที่จะมีคุณภาพการนอนหลับตอนกลางคืนที่แย่ และส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว

ดังนั้นนักเรียน นิสิต นักศึกษาทุกคนควรงีบในห้องเรียนอย่างเหมาะสม หากโดนอาจารย์ปลุกและถาม จะได้อธิบายเหตุผลได้ครับ

ขอให้งีบอย่างมีความสุขและดีต่อสุขภาพ

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

1. Yamada T, et al. Daytime Napping and the Risk of Cardiovascular Disease and All-Cause Mortality: A Prospective Study and Dose-Response Meta-Analysis. Sleep. 2015;38(12):1945-1953.

2. Ye L, et al. Napping in college students and its relationship with nighttime sleep. J Am Coll Health. 2015;63(2):88-97.