ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร No Fat สวมเลข อย.ของผลิตภัณฑ์อื่น โฆษณาเกินจริงทางสื่อออนไลน์ อ้างลดอ้วน เผาผลาญไขมัน อย. ดำเนินการระงับโฆษณา เร่งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ แถมพบมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีก 8 รายการ ใช้เลขสารบบอาหารเดียวกัน เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อซื้อมาบริโภค อาจได้รับอันตราย

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนที่ได้รับประทานผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก No Fat แล้วมีอาการใจสั่น ปากแห้ง หิวน้ำบ่อย จึงสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายและขอให้ตรวจสอบ ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบเฟซบุ๊ก ชื่อ “ตุ้ยนุ้ยบ้านโป่ง รุ่งนภา แสงทอง” มีการโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร No Fat เป็นข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น “ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก No Fat สูตรเข้มข้นเห็นผลเร็วที่สุด 1 อาทิตย์ ลงไม่ต่ำกว่า 1-2 โล เร่งการเผาผลาญไขมันเก่าถึง 2 เท่า แขนขาเรียวเล็ก หน้าท้องยุบ แบนราบ ใจไม่สั่น” และยังไม่พบข้อมูลการขออนุญาตในชื่อผลิตภัณฑ์ “No Fat” แต่เลขสารบบอาหาร 13-1-04358-1-0032 ที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นที่เคยได้รับอนุญาต แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว

อย.ได้มีหนังสือสั่งระงับการโฆษณาและส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการโฆษณาของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ เลขสารบบอาหาร 13-1-04358-1-0032 ทางอินเทอร์เน็ตอีกจำนวน 8 รายการ คือ

1.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออโรร่าเพรียว (OrroraPreaw)

2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบิวตี้ เชฟ (Beauty Shape)

3.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฮอร์เบอร์ พลัส (Herbal Plus)

4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสกินนี เฮิร์บ (Skinny Herb)

5.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซี สลิม (C Slim)

6.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรีน เฮิร์บ (Green Herb)

7.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบลสลิมมิ่ง พลัส (Belle’ Slimming Plus)

และ 8.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตรามิโนซ่า (Minoza)

ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจัดเป็นอาหารปลอม และทางผู้ผลิตที่ถูกแอบอ้างเลข อย.ได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากพบผู้ใดผลิต จำหน่ายอาหารปลอมดังกล่าว มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท

รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีรายชื่อดังกล่าวมารับประทาน และอย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หากต้องการมีรูปร่างดี ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม ก็สามารถมีสุขภาพและรูปร่างที่ดีได้ ทั้งนี้ อย.ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้บริโภคช่วยกันสอดส่อง หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor SmartApplication หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ