ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ผ่าทางตันช่วยเหลือคนไร้สิทธิรักษาสุขภาพ เสนอให้ สปสช.ตั้ง “กองทุนเฉพาะ” ดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยระหว่างที่รอการพิสูจน์สิทธิ ทำหน้าที่เคลียร์ริ่งเฮาส์ ระหว่างรอพิสูจน์สถานะคนไทย

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการพิสูจน์สถานะบุคคลและคนไร้สิทธิคือเรื่องทัศนคติ ปัจจุบันสถานการณ์ประเทศเปลี่ยนไป เรื่องการทำลายความมั่นคงประเทศน้อยลงจนแทบไม่มีแล้ว ดังนั้นในวันนี้เขาเหล่านั้นมีสิทธิในการพิสูจน์ความเป็นคนไทยแล้ว ฉะนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบควรปรับเปลี่ยนทัศนคติและทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่พึงมี

“สปสช.เพียงแค่ทำตามหน้าที่ เราไม่ได้ทำอะไรพิเศษกว่านั้น ฉะนั้นอยากให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ทำตามหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น ทุกวันนี้เราช่วยแก้ไขปัญหาได้เพียงรายกรณีเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วต้องแก้ไขในเชิงระบบหรือนโยบาย” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักนโยบายพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือเราอยู่บนช่องว่างของปัญหาที่อยู่บนความเดือดร้อนของทุกฝ่าย ทั้งตัวของคนไทยไร้สิทธิเอง โรงพยาบาลที่รับการรักษาเอง ตรงนี้เป็นปัญหาที่อยู่กึ่งกลางและไม่มีใครอยากเข้ามาแก้ปัญหา แต่ส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสในการร่วมกันปรับแก้ เพราะเริ่มเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญกับปัญหาแล้ว

นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า แน่นอนว่าความเจ็บป่วยรอเวลาไม่ได้ แนวทางแรกคือต้องช่วยกันผลักดันให้จัดตั้งกองทุนฉุกเฉินขึ้นมาดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยระหว่างที่รอการพิสูจน์สิทธิ ก็มีคำถามต่อว่ากองทุนนี้ต้องอยู่ สปสช.หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าควรเป็นกองทุนเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เป็นเคลียร์ริ่งเฮาส์ เมื่อพิสูจน์สิทธิแล้วก็ตามเก็บกันตามสิทธิ เบื้องต้นอาจให้ สปสช.ดำเนินการได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียนคนไทยไร้สิทธิมาเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์มีมาตรฐาน และต้องไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนหน่วยงานภาครัฐหรือโรงพยาบาลไม่อยากทำ ถามต่อว่าแล้วใครทำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คำตอบก็คือคนที่เคยทำเรื่องนี้และเคยมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ต้องมาช่วยกันถอดบทเรียนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อออกแบบแนวทางการทำงานที่ง่ายและสะดวกขึ้น

“รัฐบาลพยายามพูดเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ผมคิดว่าเราควรช่วยกันยกระดับปัญหาให้เป็นวาระของสังคม เพราะถ้าเจ็บป่วยแล้วยังต้องถามว่าเป็นคนไทยหรือไม่อยู่อย่างนี้ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขปัญหานี้ คงจะพูดเรื่องความเป็นธรรมในสังคมไม่ได้” นพ.ขวัญประชา กล่าว