ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดัชนีประสิทธิภาพสุขภาพทั่วโลกปี 2561 จัดอันดับ ฮ่องกง สิงค์โปร และสเปน เป็นประเทศที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพทางสาธารณสุขมากที่สุด ส่วนไทยขึ้นมาจากอันดับที่ 41 เป็นอันดับที่ 27 ด้านสหรัฐอเมริกาครองแชมป์ประเทศที่ประชาชนเสียเงินไม่คุ้มค่าต่อการบริการสาธารณสุขมากที่สุด

19 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีประสิทธิภาพทางสาธารณสุข (health-efficiency index) ประจำปี 2018 ระบุว่าประเทศที่คุ้มค่าต่อการเสียค่าบริการทางสาธารณสุขมากที่สุดคือฮ่องกง ขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่คุ้มค่าต่อการบริการทางสาธารณสุขมากที่สุด จากทั้งหมด 56 ประเทศ

การจัดอันดับในครั้งนี้ Bloomberg ใช้ 3 ตัวแปรหลักในการคำนวณดังกล่าว โดยประเทศที่ถูกจัดอันดับนั้นจะต้องเข้าเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ต้องมีจำนวนประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 5 ล้านคน มี GDP per-capita เกิน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐและประชากรทั้งประเทศมีอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) เกิน 70 ปี

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาถูกมองว่าไม่คุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากหากคิดเฉลี่ยต่อหัวแล้วประชาชนต้องจ่ายมากถึง 9,536 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์จาก GDP ทั้งหมด) แต่เมื่อคำนวณอายุคาดเฉลี่ยของประชากรทั้งหมดคือ 79 ปี - เทียบกับชาวสวิสเฉลี่ยต่อหัว 9,818 ดอลลาร์สหรัฐ (มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง) แต่มีอายุคาดเฉลี่ยของประชารอยู่ที่ 82 ปี หรือเทียบกับสาธารณรัฐเช็คที่มีอายุคาดเฉลี่ยเท่ากับสหรัฐแต่ประชาชนจ่ายน้อยกว่าถึง 2 เท่าคือ 1,284 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาถูกจัดให้มีประสิทธิภาพทางสาธารณสุขในอันดับที่ 54 (จากปี 2017 อยู่ที่อันดับ 50) รองจากประเทศอัลเซอร์ไบจานซึ่งอยู่อันดับที่ 53 ซึ่งประชาชนเสียค่าบริการสาธารณสุขต่อหัวเฉลี่ย 368 ดอลลาร์สหรัฐและมีอายุคาดเฉลี่ย 71.9 ปี หรือรัสเซียซึ่งอยู่อันดับที่ 52 แต่ประชาชนเสียค่าบริการสาธารณสุขต่อหัว 524 ดอลลาร์สหรัฐและมีอายุคาดเฉลี่ย 71.2 ปี

ด้านสหราชอาณาจักรเองก็ถูกจับตามองไม่ต่างกันเมื่อตกมาอยู่อันดับที่ TOP 10 สุดท้ายของกลุ่มประเทศยุโรป โดยประชาชนเฉลี่ยต่อหัวเสียค่าบริการสาธารณสุขทั้งหมด 4,356 ดอลลาร์สหรัฐและประชากรทั้งหมดมีอายุคาดเฉลี่ย 81 ปี ส่งผลให้เรื่องต้นทุนและประสิทธิภาพทางบริการสาธารณสุขถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นประเด็นสำคัญในนาทีนี้

ขณะที่ฮ่องกง สิงค์โปรและสเปน 3 ประเทศแรกจากจัดอันดับครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นประเทศที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพทางสาธารณสุขมากที่สุด โดยประชาชนชาวฮ่องกงเสียค่าบริการสาธารณสุขต่อหัวที่ 2,222 ดอลลาร์สหรัฐและมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.3 ปี

กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อิสราเอล (อันดับที่ 6 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับ) และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (อันดับที่ 10 ตกจากปีที่แล้ว 1 อันดับ) ยังคงติดใน TOP10 จากการจัดอันดับดังกล่าว โดยประชากรทั้งหมดในอิสราเอลมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 82 ปีและเสียค่าบริการสาธารณสุขต่อหัวอยู่ที่ 2,756 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.1 ปีและเสียค่าบริการสาธารณสุขต่อหัวอยู่ที่ 1,402 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศน้องใหม่อย่างคอสตาริกา (อันดับที่25) ไอร์แลนด์ (อันดับที่13) เลบานอน (อันดับที่ 23) และนิวซีแลนด์ (อันดับที่15) ที่เพิ่งมีจำนวนประชากรถึงเกณฑ์ที่ Bloomberg วางไว้ก็สามารถทะยานขึ้นไปติดอันดับ TOP25 ได้อย่างสบายๆ

ด้านประเทศไทยสามารถกระโดดขึ้นมาจากอันดับที่ 41 (เมื่อปีที่ผ่านมา) เป็นอันดับที่ 27 เนื่องจากเพิ่งมีการปรับลดงบประมาณบริการสาธารณสุขต่อหัวลง 40 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 219 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ขณะที่อายุคาดเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ 75 ปีเท่าเดิม

อย่างไรก็ดี การจัดอันดับดัชนีประสิทธิภาพทางสาธารณสุขดังกล่าวนั้นเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี สืบเนื่องจากปัจจัยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าเงินที่ผันผวน สภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ หรือความไม่แน่นอนทางการเมืองและสังคม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเทียบกับการพัฒนาอายุขัยของมนุษย์เราที่ชะลอตัวลงเรื่อยๆ ในทุกวันนี้

อ้างอิง

These Are the Economies With the Most (and Least) Efficient Health Care: www.bloomberg.com