ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดบัตรทองภาคประชาชนค้านร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ แจงเหตุ 4 ข้อ ซ้ำซ้อนกับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ทั้งการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ อำนาจจัดสรรงบ อำนาจควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ชี้ สธ.จัดบริการสุขภาพปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายนี้ ขอคัดค้านการนำกฎหมายไปใช้

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า วันนี้ (1 ต.ค.61) กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สัดส่วนภาคประชาชน ทั้ง 8 ราย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อคัดค้างร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะรองรับ เพราะมีกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ประกาศกำหนดขอบเขตบริการสาธารณสุขของคนไทยทุกคนซึ่งครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การมีร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการบริหารกฎหมาย 4 ประเด็นกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดังนี้

1.ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ เนื่องจากขอบเขตของบริการปฐมภูมิเป็นส่วนหนึ่งของนิยามคำว่าบริการสาธารณสุขในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการในมาตรา 18 ของร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ...

3.ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิหากเกิดปัญหาผิดมาตรฐาน ซึ่งหน่วยบริการที่ผิดมาตรฐานดังกล่าวจะต้องถูกลงทาจากทั้ง 2 กฎหมาย

4.ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ และบทบาทหน้าที่ของหน่วยบริการและการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการ

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในส่วนของการจัดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้แม้ว่าจะมีการเปิดรับฟังถึง 37 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการรับฟังจากคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมาย การทำ Focus group กับกลุ่มวิชาชีพ การทำ VDO Conference 77 จังหวัด และการประชาพิจารณ์ กับกลุ่มวิชาชีพ ต่างๆ 5 ครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเปิดรับฟังในภาคประชาสังคม จึงถือได้ว่าการรับฟังความเห็นทำให้ภาคประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขัดกับหลักการประเมินความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77

“จากความซ้ำซ้อนซึ่งจะทำให้การบังคับใช้มีปัญหาและการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความเห็น กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สัดส่วนภาคประชาชน ทั้ง 8 ราย จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมินี้ และขอคัดค้านการนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ และเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดระบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมได้โดยไม่ต้องมีร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมินี้” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว