ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เครือข่ายต้านเหล้า” จี้ยุติเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประชุมนานาชาติ Safety 2018 World Conference อัดสวนทางกับภารกิจลดอุบัติเหตุ เพราะเหล้าคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ลั่นที่นี่ประเทศไทย อย่าเอาวัฒนธรรมแบบฝรั่งมาครอบ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ที่ไบเทค บางนา ในเวทีประชุมนานาชาติ Safety 2018 World Conference ซึ่งปีนี้จัดงานหัวข้อเกี่ยวกับ "การเดินหน้าเพื่อการป้องกันการบาดเจ็บและความรุนแรง เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG การพัฒนาที่ยั่งยืน" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 -7 พ.ย.2561 สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีผู้เข้าประชุมจากทั่วโลก กว่า 1,000 คน

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีระดับโลกที่ได้รับความสนใจมาก มีหัวข้อที่สำคัญๆ ในเรื่องการบาดเจ็บและความรุนแรงที่ครอบคลุมหลายมิติ แต่ที่น่าเสียใจคือ ทราบมาว่า ในงานเลี้ยงสร้างเครือข่ายที่จะจัดวันที่ 6 พ.ย. 2561 ช่วงค่ำ เจ้าภาพคือมูลนิธิบลูมเบิร์ก Bloomberg Philanthropies จะมีการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน ซึ่งคณะกรรมการการจัดงาน หลายท่านได้แสดงจุดยืนยันชัดเจนว่าไม่เหมาะสม และร้องขอให้งานประชุมปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี

และงานเลี้ยงต้อนรับที่เจ้าภาพคือกระทรวงสาธารณสุขที่จัดวันที่ 5 พ.ย.61 (เปิดประชุมวันแรก) ก็เป็นงานเลี้ยงปลอดเหล้า แต่ทางตัวแทนมูลนิธิบลูมเบิร์ก กลับยืนยันให้จัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริการ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงของที่ประชุม โดยไม่เห็นความสำคัญของการเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องในการป้องกันปัญหา ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า แอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง เช่น ทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงในครอบครัว ต่อเด็กและผู้หญิง และการบาดเจ็บ อุบัติเหตุทางถนน

“ในงาน มีวิทยากรหลายท่านนำเสนอข้อมูลผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ย้ำแล้วย้ำอีก รวมถึงวิทยากรชาวแอฟริกา นางโซเลก้า แมนเดลา หลานสาวของ นายเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำแอฟริกาใต้ และรัฐบุรุษของโลก กล่าวในพิธีเปิด ระบุว่าลูกสาววัย 14 ของเขาเสียชีวิตด้วยฝีมือคนเมาแล้วขับ จนทำให้ต้องมาทำงานรณรงค์ระดับโลกเพื่อลดปัญหานี้ ดังนั้นเครือข่ายฯ มองว่าการกระทำนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ขอให้ เจ้าภาพคือมูลนิธิบลูมเบิร์ก ทบทวนการตัดสินใจเลี้ยงเหล้าในงานประชุม และเป็นตัวอย่างที่ดีในฐานะ แอมบาสเดอร์ด้านถนนปลอดภัย (Road Safety) ขององค์การอนามัยโลก อย่าลืมว่าที่นี่ประเทศไทยเราพยายามอย่างมากในการสร้างแบบอย่างที่ดีและถูกต้องในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะต้องไม่ส่งสัญญาณที่ผิดพลาดออกไป การเลี้ยงเหล้าในเวทีนี้ต้องไม่ให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด” นายคำรณ กล่าว