ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ Safety 2018 World Conference สสส. ผนึก สอจร. CSIP แลกเปลี่ยนประสบการณ์ป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ชูผลงานปลูกฝังพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็ก หลังพบทั่วโลกเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางถนน 1.3 ล้านคน และเป็นอันดับ 1 สูญเสียชีวิตประชากรไทย

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ที่ห้องภิรัช 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย และมีวาระพิเศษเรื่อง 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,500 คน จากทั่วโลก

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย ในประเด็นความปลอดภัยเป็นงานสำคัญที่ สสส. ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนเชิงวิชาการ นโยบาย และการสร้างจิตสำนึกให้แก่สาธารณะ โดยสนับสนุนคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) เพื่อสร้างความปลอดภัยในเด็ก ซึ่งการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม Safety 2018 ครั้งนี้ สสส.ได้นำบทเรียนการทำงานสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กและเยาวชน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้อง มาเผยแพร่ให้นานาชาติศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทภายในประเทศของตนเอง

“สสส.ร่วมกับ สอจร. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องวินัยจราจรให้กับเด็กและผู้ปกครอง ล่าสุดมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 30 แห่งที่กำลังดำเนินการ โดยอยู่ในความดูแลของ 16 อปท. และเตรียมจะขยายผล นอกจากนี้ ยังร่วมกับ CSIP พัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดภัย ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมในศูนย์ให้ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น สนามเด็กเล่นปลอดภัย และของเล่นปลอดภัย รวมทั้งดำเนินงานป้องกันเด็กจาก IT Media การป้องกันเด็กจมน้ำ และการไม่สนับสนุนให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ (15 ไม่ขี่)” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร

ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์โลก ในเวทีอภิปรายหลัก หัวข้อ “การป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บ: ความก้าวหน้าระดับโลก ภาวะหยุดชะงัก และโอกาส” ว่า ล่าสุด ทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิตจากความรุนแรง 1.6 ล้านคน จากอุบัติเหตุรถชน 1.3 ล้านคน ผู้สูงวัยเสียชีวิตจากการลื่นล้มกว่า 600,000 คน และเด็กจมน้ำเสียชีวิตอีกกว่า 300,000 คน ขณะที่ประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) อุบัติเหตุทางถนนทำให้ประชากรเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาเป็นการพลัดตกหกล้ม การทำร้ายตัวเอง การถูกทำร้าย การตกน้ำจมน้ำ สัมผัสกับแรงเชิงวัตถุสิ่งของ สัมผัสกระแสไฟฟ้า รังสี สัมผัสความร้อนควันไฟ เปลวไฟ สัมผัสพิษจากสัตว์หรือพืช ตามลำดับ

“สถิติของประเทศไทยสวนทางกับสถิติโลก โดยมีปัจจัยหลักมาจากสภาพสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงรายได้ของประชากรที่แตกต่างกัน ซึ่งการประชุม Safety 2018 นี้ เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและทั่วโลกจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ทั้งการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพ การจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน การป้องกันความรุนแรงในเด็กและสตรี การป้องกันการบาดเจ็บในผู้สูงอายุ ความปลอดภัยจากการกีฬา และประเด็นอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และมากไปกว่านั้นคือการคาดหวังว่าในอนาคต ทั่วโลกจะช่วยกันลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงให้เป็นศูนย์ได้” นพ.อนุชา กล่าว

นพ.อีเทียน ครูกก์ ผู้อำนวยการกองการจัดการโรคไม่ติดต่อ ความพิการ การป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่เร่งดำเนินงานแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุ โดยมีนโยบายที่ชัดเจน เช่น การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การป้องกันความรุนแรงแรงในเด็ก และการป้องกันเด็กจมน้ำ เป็นต้น แต่การขับเคลื่อนยังดำเนินไปค่อนข้างช้า เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องมีการสื่อสารและเพิ่มฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม