ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สปสช.เชื่อมต่อระบบโปรแกรมการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ “Long Term Care” และเพิ่มศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ในการดูแลผู้สูงอายุ มีฐานข้อมูลวางแผนนโยบายระดับชาติ ลดทำงานซ้ำซ้อน ลดระยะเวลาในการจัดทำ Care Plan

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาเชื่อมต่อระบบโปรแกรมการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) ด้วยโปรแกรม “Long Term Care 3 C” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ร่วมในพิธี

นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรที่อายุครบ 60 ปีขึ้นไปจำนวนร้อยละ 18.01 และคาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 28 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุที่รวดเร็ว ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและมีนโยบายด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ รับรองสังคมผู้สูงอายุ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงแล้ว กว่า 1.8 แสนคน สำหรับในปี 2562 ตั้งเป้าดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง จำนวน 2 แสนคน และรวมทั้งอบรมฟื้นฟูผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน (Care Manager) และ เพิ่มศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุ(Caregiver) ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 70 ชั่วโมง มาอบรมเพิ่มอีก 50 ชั่วโมง เพื่อเป็นนักบริบาลชุมชน หลักสูตร 120 ชั่วโมง ทำงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงติดบ้าน ติดเตียงในชุมชนแบบเต็มเวลา

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนาโปรแกรม “Long Term Care 3 C : Care Manager, Caregiver, Care Plan” โดยให้ทุกจังหวัดจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการใช้โปรแกรมการขึ้นทะเบียน Care Manager, Caregiver การจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care Plan) และการพัฒนาลงรหัสการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Care Plan code) ในโปรแกรม Long Term Care 3C สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหา การวางแผนการดูแลผู้สูงอายุในระดับนโยบายประเทศและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงาน ในการจัดทำระบบรายงานและการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคลได้อย่างเหมาะสม

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าผู้ปฏิบัติงาน Care Manager และ Caregiver ในระดับพื้นที่มีบทบาทในขับเคลื่อนนโยบายจากหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดภาระงานและความซ้ำซ้อนของข้อมูล เมื่อ 2 หน่วยงานมีความร่วมมือเชื่อมต่อระบบโปรแกรม Long Term Care (3C) ใช้ข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน โดยเชื่อมข้อมูลผู้สูงอายุจากโปรแกรม Long Term Care ของ สปสช. มาใช้วางแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care Plan) ทำให้ระบบการทำงานคล่องตัวขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนลดระยะเวลาในการจัดทำ Care Plan และการรายงานข้อมูล ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง

รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ได้ดำเนินการประเมินคัดกรองสุขภาพแล้ว จำนวน 7,242,578 คน หรือร้อยละ 87.64 เป็นผู้สูงอายุติดสังคม ร้อยละ 96.86 ติดบ้าน ติดเตียงร้อยละ 3.14 ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยกระทรวงสาธารณสุข ผลิต Care manager แล้ว จำนวน 12,452 คน Caregiver จำนวน 77,380คน ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ได้รับการดูแล 188,298 คน ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้น กลุ่มติดเตียงเปลี่ยนเป็นกลุ่มติดบ้าน 2,160 คน กลุ่มติดบ้านเปลี่ยนเป็นกลุ่มติดสังคม 7,677 คน รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อ “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม”

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ในลักษณะของการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงดีขึ้น สามารถลุกจากเตียงไปสู่สังคมได้ ตั้งเป้าให้เกิดภาพเช่นนี้กับประชาชนทั่วทุกตำบล เป็นการจัดระบบบริการใหม่นอกจากโรงพยาบาลมาเป็นในชุมชน เกิดเป็นการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลไกความร่วมมือนอกจากระบบการตรวจสอบสิทธิที่นำไปสู่การลงทะเบียนเรื่องระบบบริการแล้ว ยังมีโปรแกรมนี้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ลดงานธุรการลงเพื่อให้มีเวลาในการทำงานบริการโดยตรงกับประชาชนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น