ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชนจี้ บังคับใช้กฎหมายห้ามขายเหล้าให้คนเมา ระบุโทษหนัก กม.มีมานานนับ 10 ปี แต่ไม่มีใครถูกจับ ทั้งที่เป็นมาตรการสร้างความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ มิใช่โยนบาปให้ผู้ดื่มแต่ฝ่ายเดียว ส่งผลให้ปัญหาเมาแล้วขับแก้ไม่ตก ลุ้นปีใหม่นี้อาจถูกบังคับใช้สร้างบรรทัดฐานใหม่ อัดธุรกิจน้ำเมามุ่งเสนอแคมเปญโทษแต่ผู้ดื่ม

นายชูวิทย์ จันทรส

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางบก กลายเป็นวาระแห่งชาติมานาน แต่ผลของการป้องกันแก้ไขปัญหากลับย่ำอยู่กับที่ อุบัติเหตุคนเจ็บตายช่วงปีใหม่ สงกรานต์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้บาดเจ็บเฉลี่ยอยู่ในระดับ 350-450 รายและบาดเจ็บเฉลี่ย 3,000-4,500 ราย นั่นหมายความว่ายาที่ใช้ในการรักษาอาการนี้เริ่มไม่ได้ผล เกิดภาวะเชื้อดื้อยา จำเป็นต้องหาแนวทางในการรักษาใหม่ๆ รวมถึงใช้ยาตัวใหม่ๆ เช่น มาตรการตรวจเลือดทั้ง 2 ฝ่ายกรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนน ก็ถือเป็นมาตรการที่ดีและยิ่งได้งบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน มาตรการยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่จะดีมากไปกว่านี้หากกรณีที่พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แล้วสามารถสืบไปจนพบว่าผู้ก่อเหตุมีการกินดื่มมาจากร้านเหล้า ผับบาร์ แห่งใด เพื่อยืนยันว่าที่นั่นมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาขาดสติจนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เรื่องนี้ยังไม่ต้องไปไกลถึงความผิดซึ่งหน้า ตามไล่จับร้านที่ขายให้คนเมาคาหนังคาเขา รูปธรรมเอาเฉพาะแค่รายที่เกิดอุบัติเหตุก่อน แล้วสาวไปถึงผู้ประกอบการให้ได้ เราก็จะได้เห็นความรับผิดชอบของคนขายมากขึ้น ไม่ใช่แค่หวังจะทำยอดขายกันอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าลูกค้ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน นี่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการแก้ปัญหาเมาแล้วขับ เมาแล้วสร้างปัญหาในสังคมไทย ปัจจุบันเครื่องมือการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากการเป่า ก็ราคาถูกมาก ทุกร้านค้าสามารถซื้อได้ เพื่อช่วยเตือนลูกค้าให้กลับบ้านปลอดภัย และร้านค้าไม่ต้องทำผิดกฎหมาย อาจถูกดำเนินคดี” นายชูวิทย์ กล่าว

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี

ด้านเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เป็นที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดกฎหมายห้ามขายให้คนเมาขาดสติ จึงไม่มีการนำมาบังคับใช้เท่าที่ควร แทบไม่เห็นผู้ประกอบการรายใดถูกดำเนินคดีกับเรื่องนี้เลย มีแต่จะเอาผิดกับผู้ดื่มที่ไปก่อเหตุ ซึ่งก็ถูกต้องแต่ยังไม่พอ ตรงนี้จะไปสอดคล้องกับจุดยืนหรือแคมเปญต่างๆ ของฝั่งธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มักจะโยนบาปให้ผู้ดื่ม ส่วนผู้ประกอบการผู้ผลิตนำเข้า ผู้ขายทั้งหลายก็ลอยนวลเหนือปัญหา ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ต้องนำภาษีจากทุกคนมาแก้ปัญหา

ที่ผ่านมาฝั่งธุรกิจน้ำเมาพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเชิงนโยบาย ด้วยข้อเสนอหรือมาตรการที่มุ่งเอาผิดผู้ดื่ม หรือเบี่ยงประเด็นไปเรื่องอื่น เช่น อ้างว่าเพราะง่วงมากกว่าเมาโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่มีงานวิจัยรองรับ รวมถึงเข้ามาสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เข้ามาแบบตรงๆ ในนามบริษัท ตลอดจนมาในนามองค์กรหน้าฉาก จัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายบังหน้า เพื่อทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐ เมื่อความรู้ไม่เท่าทันของหน่วยงานรัฐเกิดขึ้น การยอมรับในแนวความคิดของฝั่งธุรกิจ ที่มุ่งไปกล่าวหาผู้ดื่มฝ่ายเดียว หรือเบี่ยงเบียนไม่ให้ธุรกิจต้องรับผิดชอบก็เป็นผล เข้าทางธุรกิจน้ำเมา ตามแบบฉบับที่เดินหน้าทำมาแล้วทั่วโลกทำให้ปัญหาเมาแล้วขับ เมาแล้วสร้างปัญหา จึงแก้ไม่ตก

“มาตรการสร้างความรับผิดชอบร่วมของผู้ประกอบการเหล่านี้ หลายประเทศ ผู้จำหน่ายสุราต้องมีใบอนุญาต ต้องผ่านการอบรม เป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกนำมาใช้ควบคุมลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล่าสุดมีดำริของนายตำรวจระดับสูงท่านหนึ่งที่พูดถึงการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายให้คนเมาขาดสติ แต่ก็เงียบหายไปทั้งๆ ที่มีเครื่องมือป้องกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แล้วกว่าสิบปี ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่แต่อย่างใด แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ ยังคงวนเวียนอยู่กับมาตรการเดิมๆ ที่พิสูจน์แล้วว่า “เอาไม่อยู่” คงต้องรอดูกันต่อไปว่ากฎหมายมาตรานี้จะถูกนำมาบังคับใช้กันหรือไม่ในช่วงปีใหม่นี้ หรือจะทำได้แค่นั่งนับศพ นับคนเจ็บตายจากน้ำเมาซ้ำซากกันต่อไป” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว