ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรม รพ.สต.จังหวัดแพร่ แจงโอนย้าย รพ.สต. 119 แห่ง ไป อบจ.แพร่ อยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาเพื่อเดินหน้า คาดใช้เวลา 2 ปี ระบุเป็นแนวทางโอนย้ายใหม่ หลัง รพ.สต.ก่อนหน้านี้ ย้ายอยู่ภายใต้ อปท.ขนาดเล็ก มีปัญหางบหนุน พร้อมย้ำเป็นการเดินหน้าตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ปี 42 หลัง 10 ปี มี รพ.สต.เพียง 51 แห่ง จากกว่า 7 พันแห่ง ที่โอนย้ายสำเร็จ เผยยังมีจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และสงขลา ร่วมศึกษานำร่อง

นายณัฐ วังกาวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าแมต (รพ.สต.) อ.เมือง จ.แพร่ ในฐานะประธานชมรม รพ.สต.จังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวนำเสนอว่า รพ.สต.จังหวัดแพร่ 119 แห่ง เตรียมโอนย้ายไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ (อบจ.แพร่) นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเริ่มต้นศึกษาโดยยังไม่ได้มีการถ่ายโอนแต่อย่างใด เรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่ระบุให้สถานีอนามัย หรือ รพ.สต.ในปัจจุบันโอนย้ายไปยัง อปท. ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว มี รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยัง อปท.เพียง 51 แห่ง จากจำนวน รพ.สต.กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ โดยการโอนในระยะแรกเริ่มในปี 2551 ต่อมาระยะที่ 2 ดำเนินการในปี 2556 และต่อจากนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 ที่ต้องโอนย้ายเพิ่มเติม โดยเรื่องนี้รัฐบาลตอบรับและสนับสนุนเดินหน้า

ทั้งนี้ในการศึกษาการโอนย้ายในส่วนของ รพ.สต.จังหวัดแพร่ ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาระหว่าง อบจ.แพร่ กับชมรม รพ.สต.จังหวัดแพร่ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแนวทางการโอนย้ายว่าควรดำเนินการอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยังท้อนถิ่นแล้ว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย นอกจากนี้ที่ผ่านมา รพ.สต.ที่ถ่ายโอนเป็นการโอนไปยัง อปท.ขนาดเล็ก ที่เป็น อบต. และเทศบาล ทำให้บางแห่งแบกรับภาระไม่ไหว ดังนั้นจึงลองศึกษาว่า หากเป็นการโอนย้าย รพ.สต.ทั้งจังหวัดไปยัง อบจ.ที่เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่จะเป็นอย่างไร ทำได้หรือไม่ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงจังหวัดแพร่เท่านั้น แต่มีการดำเนินการทั้งที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และสงขลา

นายณัฐ กล่าวว่า นอกจากนี้แนวทางในการดำเนินการถ่ายโอน รพ.สต.ยังต้องมีขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ อบจ.จะต้องส่งเรื่องไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ว่าพร้อมจะรับโอน รพ.สต.ในพื้นที่ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อประเมินความพร้อมของ อบจ.ในการับถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งในด้านงบประมาณ ภาระงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องดูความพร้อมของ รพ.สต.เอง โดยเฉพาะความสมัครใจของบุคลากรใน รพ.สต.ที่ต้องโอนย้ายจากกระทรวงสาธารณสุขไปยัง อบจ. ซึ่งในกรณีที่ภายใน รพ.สต. มีบุคลากรบางส่วนไม่ประสงค์ย้ายก็ต้องหาที่ลงใหม่ให้ เพื่อให้เขาสังกัด สธ. เช่นเดิม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องดูประโยชน์ประชาชนที่จะได้รับเป็นหลัก ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการดูแลสุขภาพประชาชนที่ต้องดีขึ้น

“ระยะเวลาการศึกษา ดูจากขั้นตอนแล้วไม่รู้ว่า 1 ปีจะดำเนินการเสร็จหรือไม่ และอาจต้องใช้เวลา 2 ปี เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ของง่าย ทั้งนี้ 10 ปีที่ผ่านมา มี รพ.สต.ที่โอนย้ายไป อปท.ได้เพียง 51 แห่งเท่านั้น จากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ แต่การโอนย้าย รพ.สต.ยังต้องเดินหน้า เนื่องจากมีกฎหมายระบุไว้” ประธานชมรม รพ.สต.จังหวัดแพร่ กล่าว

นายณัฐ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดแพร่ที่ผ่านมาได้จัดเวทีประชาคมให้ความรู้กับน้องๆ ใน รพ.สต. ถึงการโอนย้าย รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลาย มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานทั้งที่ รพ.สต.ที่โอนย้ายไปยัง อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ที่เป็นตัวอย่างที่ดี และ รพ.สต.บางแห่งที่โอนย้ายไปยัง อปท.ขนาดเล็กแล้วมีปัญหา ซึ่งจากนี้คงต้องมีการศึกษาร่วมกัน โดยตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาในด้านต่างๆ อาทิ งบประมาณ ภาระงาน และปัญหาทางกฎหมาย เป็นต้น รวมถึงสอบถามความคิดเห็นชาวบ้าน โดยเฉพาะ อสม.ที่ทำงานร่วมกับ รพ.สต. เพราะหาก รพ.สต.โอนย้ายไปยังท้องถิ่น อสม.ก็ต้องตามไปด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังมีข้อเสนอให้มีการโอนย้าย รพ.สต.เพียง 50% ก่อน เพื่อดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะโอนย้ายไปแล้วหากเกิดปัญหาจะไม่สามารถขอโอนกลับได้ เพื่อความรอบคอบ

“อีก 4 ปี ผมก็เกษียณแล้ว การศึกษาเพื่อโอนย้าย รพ.สต.ไปยังท้องถิ่นเป็นการทำเพื่อน้องๆ และเรื่องนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งในการพลิกโฉมบริการปฐมภูมิ จากอดีตที่เคยเป็นสุขศาลาเปลี่ยนเป็นสถานีอนามัย และเป็น รพ.สต.ในเวลาต่อมา และครั้งนี้จะเป็นการโอนย้ายหน่วยงานไปอยู่ภายใต้ท้องถิ่น การขับเคลื่อนจึงต้องศึกษาให้ดีก่อนเดินหน้า” ประธานชมรม รพ.สต.จังหวัดแพร่ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ตรวจเขต 1 แจงข่าวเตรียมถ่ายโอน 119 รพ.สต.ใน จ.แพร่ไป อบจ. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง