ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลพิจิตรติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซล (Solar Cell) ประหยัดพลังงาน คาดจะคุ้มทุนภายใน 2 ปี เตรียมขยายในสถานบริการกว่า 1,000 แห่ง ช่วยลดค่าไฟฟ้าและลดโลกร้อน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการลงทุนการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐ สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในโรงพยาบาล ร้อยละ 70 ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

สำหรับโรงพยาบาลพิจิตรมีความพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 180,000 หน่วย ใช้เงินลงทุน 6.2 ล้านบาท โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานสนับสนุน 4.34 ล้านบาท โรงพยาบาลสมทบ 1.86 ล้านบาท สามารถลดการใช้พลังงานได้ร้อยละ 7 ต่อเดือนจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าในโรงพยาบาลเดือนละ 200,600 หน่วย คาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 2 ปีหลังจากนี้

สำหรับในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพิ่มในสถานบริการ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.หน่วยบริการปฐมภูมิรวม 882 แห่ง ได้แก่ รพ.สต./ สาธารณสุขชุมชน (สสช.)/ สุขศาลาที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ 114 แห่ง รพ.สต.ที่ไฟฟ้าไม่เสถียร 169 แห่ง รพ.สต.ในพื้นที่เขตชายแดน 472 แห่ง รพ.สต.ในพื้นที่เกาะ 48 แห่ง สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี 78 แห่ง และรพ.สต.ทุ่งรักษ์ชัยพัฒน์ 1 แห่ง

2.โรงพยาบาลที่มีความพร้อมดำเนินการ 131 แห่ง

และ 3.โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 39 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง รพ.เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 4 แห่ง และ รพ.พระราชทานนามชัยพัฒน์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 4 แห่ง เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าในสถานบริการ ตลอดจนช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าและลดโลกร้อน