ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอหทัย" หนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องเดินหน้าฟ้อง บ.ฟิลลิป มอร์ริสฯ ให้สำเร็จ หลักฐานแน่นชนะขาดแน่ ชี้ไม่หวั่นกรณีพิพาทกับฟิลิปปินส์ WTO จัดการข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก ไม่มีเสียค่าปรับ ไม่เหมือนการฟ้องศาล นักวิชาการ สงสัย “ดอน” ดอดส่งหนังสือลับให้ไทยล้มคดี ละเมิด FCTCของ WHO น่าแปลกใจมีปฏิสัมพันธ์พิเศษกับ บ.บุหรี่

จากกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือลับที่สุด ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เพื่อขอให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารยุติการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เมื่อปี 2559 จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ โดยแจ้งราคาบุหรี่นำเข้า (c.i.f.) ราคาซองละ 7 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำเกินจริง แต่ราคาขายปลีกซองละ 145 บาท จึงเป็นการเลี่ยงภาษี (TAX evasion) รวมแล้วประมาณ 6 หมื่นล้านบาทที่ไทยได้สูญเสียรายได้ส่วนนี้ไป โดยคดีนี้เป็น 1 ใน 12 คดีอาญา ที่ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสอบสวนคดีให้แล้วเสร็จ

นพ.หทัย ชิตานนท์

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (ปี 2550-2551) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้ยังมีผู้ไม่ทราบข้อเท็จจริงหลายประการ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลไทยมีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอต่อการฟ้องร้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ที่แจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เป็นคนละประเด็นกับกรณีการที่รัฐบาลไทยถูกฟ้องร้องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก ไม่เหมือนกับการฟ้องศาล ซึ่ง WTO จะแต่งตั้งสมาชิก Panel 3 คนจากประเทศต่างๆ มาพิจารณาและวินิจฉัยในการนี้เป็นการสรุปให้ประเทศคู่กรณีได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือวิธีการต่างๆ ไม่มีการปรับเป็นตัวเงิน

"ท่านนายกฯ เคยปรารภกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่งว่า ท่านเป็นห่วงว่ากรณีพิพาทที่เกิดขึ้น อาจทำให้ประเทศต้องเสียค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมได้อธิบายให้ท่าน รมช.สาธารณสุขท่านนั้น ให้ไปเรียนอธิบายแก่ท่านนายกฯ แล้ว จากเหตุนี้ ผมและนักวิชาการควบคุมยาสูบ 53 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการฟ้องร้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ต่อให้สำเร็จ พร้อมทั้งส่งข้อมูลสนับสนุนการดำเนินการให้แก่คณะอัยการด้วย เนื่องจากกรณีนี้ทำให้ประเทศชาติเสียหายมากแล้ว โดยสูญเสียรายได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับความสูญเสียทางสุขภาพของประชาชนในประเทศที่ตกเป็นเหยื่อยาสูบอีกจำนวนมาก" นพ.หทัย กล่าว

นพ.หทัย กล่าวต่อว่า กรณีการฟ้องร้องต่อ WTO ไม่ทราบว่าเหตุใดรัฐบาลฟิลิปปินส์จึงเป็นผู้ฟ้องรัฐบาลไทย แต่ข้อมูลปรากฏคือ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ เป็นผู้มีพระคุณต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ เมื่อปี ค.ศ.2000 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ได้ลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโรงงานบุหรี่ขนาดมหึมาที่กรุงมนิลา นับเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดจากต่างประเทศ ซึ่งข้อพิพาทใน WTO นี้เคยมีภาคประชาสังคมของฟิลิปปินส์ออกมาตำหนิรัฐบาลของตนเองที่ต้องมาทะเลาะกับไทยซึ่งเป็นเพื่อนที่น่ารักด้วย

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า อยากขอท้วงถามรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศที่จะเป็นเกณฑ์ในการใช้ดุลยพินิจของอัยการเพื่อการถอนฟ้องคดี ควรชั่งน้ำหนักระหว่าง “สุขภาพของคนไทย” หรือ “ผลประโยชน์ของบริษัทบุหรี่” และพันธกรณีที่ไทยมีต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย เพราะจากเนื้อหาของเอกสารลับขอให้นายกฯ ล้มคดียื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ มีเรื่อง “น่าแปลกใจและน่าเป็นห่วงมาก” ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงแต่พันธกรณีของไทยภายใต้ WTO แต่กลับลืมคำนึงไปว่า ไทยก็มีพันธกรณีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของ FCTC เมื่อปี 2547 ดังนั้น การตีความพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของทั้ง 2 องค์กรระหว่างประเทศ จึงต้องตีความให้สอดคล้องร่วมกัน ไม่ใช่คำนึงถึงแต่พันธกรณีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

“FCTC ได้กล่าวถึงพันธกรณีเรื่องการคุ้มครองนโยบายควบคุมยาสูบจากผลประโยชน์ทางการค้าโดยมุ่งเน้นเรื่องความโปร่งใสกับการมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่เพื่อป้องกันการแทรกแซง แต่ท่านรองนายกรัฐมนตรี กลับได้รับเอกสาร “ลับที่สุด” จากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ล้มคดีบริษัทบุหรี่ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังผิดพันธกรณีที่มีต่อองค์การอนามัยโลกด้วย” ดร.วศิน กล่าว