ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย จัดประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 “พลิกโฉมนวัตกรรม สร้างความรอบรู้ สู่ประชาชนสุขภาพดี” หวังใช้นวัตกรรมสร้างความรอบรู้สุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดีและมีระบบสุขภาพที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 “พลิกโฉมนวัตกรรม สร้างความรอบรู้ สู่ปรเชาชนสุขภาพดี” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า การที่ประชาชนจะอายุยืนยาวพร้อมสุขภาพ ยอดเยี่ยม สามารถจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง (Self Management) และอยู่ในสังคมรอบรู้ (Literate Society) ที่ดีนั้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน คือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ที่เป็นกระบวนการนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของประชาชนไทย โดยหวังให้เกิดการระบบสุขภาพจากซ่อมนำสร้าง ไปเป็นสร้างนำซ่อมอย่างจริงจัง รวมทั้งจากรัฐเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นประชาชนเป็นศูนย์กลางกำหนดปัญหาและความต้องการ และ จากพึ่งพาบริการรัฐ ไปเป็นการพึ่งพาตนเอง โดยประชาชนสามารถจัดการกับสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ จนนำไปสู่ การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

“ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพหลักที่พึงประสงค์ของประชาชนวัยทำงานอายุ 15 - 59 ปี ในปี 2561 พบว่า กินผัก 5 ทัพพีต่อวัน ร้อยละ 29.58 มีกิจกรรมทางกายจนรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติอย่างน้อยวันละ 30 นาที ร้อยละ 26.85 นอนถึง 7 ชั่วโมง ร้อยละ 88.58 แปรงฟันก่อนนอนนาน 2 นาที ร้อยละ 48.71 นอกจากนี้ ผลการทบทวนของกรมอนามัยพบว่าปัญหาที่ทำให้ประชาชนขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพ ได้แก่ 1.ความสับสนในการตัดสินใจทางด้านสุขภาพที่มีข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าจะเลือกวิถีสุขภาพไปในทิศทางใด 2.ระบบบริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อน ทำให้ยากต่อการตัดสินใจว่าทางเลือกใดจะส่งผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด 3.ระบบการศึกษายังไม่สามารถที่จะสร้างทักษะด้านสุขภาพ ทำให้ประชาชนไม่สามารถประเมินว่าควรที่เลือกใช้หรือไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ และ 4.ความรอบรู้ด้านสุขภาพที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้มีทางเลือกสุขภาพที่จำกัด ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง สุขภาพไม่ดี และไม่สามารถจัดการสุขภาพด้วยตนเองได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ ตัดสินใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายด้านในการมีส่วนช่วย ทั้งการนำเทคโนโลยี 4.0 และนวัตกรรม ตลอดจนการจัดการกับปัจจัยกำหนดสุขภาพเข้ามาช่วยจัดการระบบสุขภาพ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จการสร้างความรอบรู้ สู่พฤติกรรมสุขภาพได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ สาวไทยแก้มแดง Program Online เพื่อแก้ปัญหาซีดใน หญิงวัยเจริญและป้องกันความพิการแต่กำเนิด 9 ย่างเพื่อสร้างลูก Program สร้างความรอบรู้ให้กับหญิงตั้งครรภ์และการดูแลลูกที่มีคุณภาพ Teenergy นวัตกรรมสร้าง Critical level of Health literacy สำหรับจัดการเรื่องเพศวิถีของวัยรุ่นไทยและ อีกหลากหลายนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยทำให้เกิดการพลิกโฉมระบบสุขภาพ โดยนำคนไทยไปสู่ Smart Citizen ได้อย่างรวดเร็ว

“การจัดประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ผลงานวิจัย และความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมายด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อสานสัมพันธ์ สร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมอนามัย สหวิชาชีพและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ การบรรยายพิเศษ ในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ มุมมองการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของอาเซียน การพัฒนาเมือง สู่สุขภาวะที่ดี รวมทั้งมีการอภิปรายทางวิชาการ การนำเสนอผลงานวิชาการทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การแสดงนิทรรศการ และมอบรางวัลองค์กรและบุคคลต้นแบบด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยผู้สนใจสามารถติดตาม การประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ ผ่านทาง Facebook LIVE กรมอนามัย หรือหากต้องการข้อมูลการประชุมวิชาการฯ เพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว